อธิบดี สถ. แจง 3 ประเด็นข้อเรียกร้องจากสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 นายสุทธิพงษ์
จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
เปิดเผยว่า จากกรณีที่สมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย
และเครือข่ายสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สอ.สถ.) ได้ยื่นหนังสือต่อประธานกรรมการดำเนินการ
ขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญ ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 เพื่อพิจารณาประเด็นใน 3
ประเด็น ดังนี้ 1. พิจารณาเพิกถอนมติของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ ชุดที่ 14
ครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 เฉพาะประเด็นที่สหกรณ์ใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนลูกหนี้
(ผู้กู้) 2. กรณีที่สมาชิก สอ.สถ. ยื่นหนังสือ พร้อมแนบรายชื่อสมาชิก
ขอให้มีการถอดถอนกรรมการดำเนินการชุดที่ 14 ทั้งคณะ และ 3.
ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับสหกรณ์
ในประเด็นที่มาของคณะกรรมการดำเนินการนั้น
ต้องขอเรียนชี้แจงว่า สอ.สถ.
ได้มีหนังสือหารือแนวทางดังกล่าวต่อสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร
ซึ่งได้แจ้งความเห็นให้ สอ.สถ.ทราบว่า
การเพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ โดยมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญนั้น
ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากข้อบังคับสหกรณ์ ไม่ได้กำหนดอำนาจที่ประชุมใหญ่ไว้
หากที่ประชุมใหญ่หรือที่ประชุมคณะกรรมการฯ ลงมติอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ข้อบังคับ
และระเบียบสหกรณ์ ระเบียบหรือคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์
นายทะเบียนสหกรณ์หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งยับยั้งหรือเพิกถอนมตินั้นได้
ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ. ศ. 2542 ก็หมายความว่า
การขอเพิกถอนมติของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ โดยใช้มติที่ประชุมใหญ่วิสามัญ
ครั้งที่ 20 ประจำปี 2561 ตามข้อเรียกร้องนั้น ไม่สามารถดำเนินการได้นั่นเอง
ส่วนประเด็นที่ขอให้มีการถอดถอนกรรมการดำเนินการฯ
ชุดที่ 14 ทั้งคณะนั้น สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร ก็ได้ให้ความเห็นว่า
ที่ประชุมใหญ่มีอำนาจถอดถอนกรรมการดำเนินการตามข้อบังคับ ข้อ 71 (2)
แต่ถ้าหากข้อบังคับยังไม่ได้กำหนดวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้
สอ.สถ. ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง
ข้อแนะนำวิธีดำเนินการเกี่ยวกับการถอดถอนคณะกรรมการหรือกรรมการดำเนินการสหกรณ์
และการยื่นอุทธรณ์ของสมาชิก กรณีคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์มีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ
ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2543 ตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์
ที่ได้กำหนดการถอดถอนคณะกรรมการ ให้ที่ประชุมใหญ่อาจพิจารณาถอดถอนคณะกรรมการ
หรือกรรมการดำเนินการสหกรณ์ได้ เมื่อมีกระทำโดยทุจริตต่อหน้าที่
จงใจกระทำการใดโดยผิดกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบสหกรณ์ กระทำ หรือละเว้นกระทำ
โดยประมาทเลินล่ออันเป็นเหตุให้สหกรณ์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
กระทำการใดอันเป็นการประกอบธุรกิจ ซึ่งมีลักษณะแข่งขันกับกิจการของสหกรณ์
กระทำการใดอันเป็นปฏิปักษ์ต่อสหกรณ์หรือกิจการของสหกรณ์ ก็จะเห็นได้ว่า
ข้อเรียกร้องดังกล่าว
ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้องตามประกาศของนายทะเบียนสหกรณ์
ดังนั้น การที่จะมีมติให้ถอดถอนคณะกรรมการดำเนินการฯ
จึงไม่สามารถดำเนินการได้ในการประชุมครั้งนี้ หรือกรณีที่คณะกรรมการฯ
กระทำการหรืองดเว้นกระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
จนทำให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์หรือสมาชิก
นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้คณะกรรมการฯ พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ
หรือให้กรรมการซึ่งเกี่ยวข้องกับการนั้น พ้นจากตำแหน่งกรรมการ ตามมาตรา 22(4)
แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542
และในประเด็นสุดท้าย
ที่ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับสหกรณ์ฯ
ในประเด็นที่มาของคณะกรรมการดำเนินการ ก็ขอเรียนว่า
ผู้ที่ขอให้แก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
ไม่ได้จัดส่งเอกสารที่มีเนื้อหาหรือรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นที่จะขอแก้ไขข้อบังคับให้สหกรณ์
เพื่อจัดส่งให้สมาชิกได้มีโอกาสศึกษา พิจารณา ตรวจสอบ
หรือเตรียมข้อซักถามแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่ขอให้มีการแก้ไขเป็นการล่วงหน้า
จึงไม่เป็นไปตามข้อบังคับสหกรณ์ฯ ข้อ 106 (1)
การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่จึงอาจไม่ได้ข้อยุติในทันที
ถึงแม้การประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 2 ประจำปี
2561 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 นั้น
ไม่สามารถดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสมาชิกสหกรณ์ที่เป็นผู้ค้ำประกันแล้วต้องรับชำระหนี้แทนผู้ที่ตนเองค้ำประกัน
รวมทั้งการจะปลดกรรมการก็ต้องโดยนายทะเบียนสหกรณ์พิจารณาเห็นว่ากรรมการทำผิดกฎหมาย
ประพฤติเสื่อมเสีย ไม่สามารถดำเนินการได้โดยสมาชิกที่มาประชุมวิสามัญ
แต่อย่างไรก็ตาม สอ.สถ. จะยังคงจัดให้มีการประชุมต่อไป
เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบข้อเท็จจริงและซักถามได้ด้วยตนเองอย่างเต็มที่
โดยสมาชิก สอ.สถ. สามารถศึกษาข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ที่ www.dlasavingcoop.com
ได้อีกทางหนึ่งด้วย
ก็ขอให้ท่านสมาชิกที่รับภาระใช้หนี้ในฐานะผู้ค้ำประกัน พิจารณาข้อกฎหมายต่างๆ
ให้ละเอียด และขอให้มาเข้าสู่โครงการช่วยเหลือผู้ค้ำประกันที่ได้รับโอนหนี้จากผู้กู้
(คลินิกแก้หนี้) เพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ หรือประนอมหนี้ โดย สอ.สถ.
จะให้คำปรึกษา แนะนำ ให้แก่ผู้ค้ำประกันให้ได้มีโอกาสปลดภาระหนี้
ควบคู่กับการเสริมสร้างวินัยทางการเงินที่ดี ไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงิน อธิบดี
สถ.กล่าว