สำรวจแนวโน้มธุรกิจสำนักงานให้เช่าปี 2566-2567 Green Office ยังคงโดดเด่น ตอบโจทย์ผู้เช่ารักษ์โลก (Krungthai COMPASS )

Key Highlights

=ธุรกิจสำนักงานให้เช่าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยเฉพาะจากกระแส WFH และ HybridWorking ที่ทำให้ผู้เช่าบางส่วนขอลดหรือยกเลิกพื้นที่เช่าลง ความต้องการเช่าสำนักงานในปี 2565 จึงจะเพิ่มขึ้นเพียง 10,000 ตร.ม. สวนทางกับพื้นที่สำนักงานให้เช่าที่เพิ่มขึ้น 400,000 ตร.ม. ค่า OR ในปี 2565 จึงอาจลดลงมาต่ำกว่าระดับ 85% เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี

=สำหรับแนวโน้มปี 2566-2567 คาดว่าค่า OR มีโอกาสจะลดลงต่อเนื่องมาอยู่ในกรอบ 75-80% ตามความต้องการเช่าสำนักงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 50,000 ตร.ม. ต่ำกว่าพื้นที่สำนักงานใหม่ที่กำลังจะสร้างเสร็จอีกกว่าปีละ 460,000 ตร.ม. ภาวะการแข่งขันของธุรกิจจึงมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นผ่านการปรับลดอัตราค่าเช่าเพื่อดึงดูดกลุ่มผู้เช่า

=  GreenOffice ยังเป็น Segment ที่มีความต้องการเช่าอย่างต่อเนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่และบริษัทต่างชาติที่ให้ความสำคัญกับกระแส ESG โดย จากการประเมินพบว่า แม้การพัฒนา GreenOffice จะมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม แต่ 1) การกำหนดอัตราค่าเช่าได้สูงขึ้น และ 2) การประหยัดพลังงานได้ดีกว่าสำนักงานทั่วไป ทำให้การพัฒนา GreenOffice มีโอกาสคืนทุนเร็วกว่าสำนักงานทั่วไป 2-3 ปี

ธุรกิจสำนักงานให้เช่าจัดเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะจากกระแส WorkFromHome (WFH) และ Hybrid Working ที่ส่งผลลบโดยตรงต่อความต้องการเช่าออฟฟิศสำนักงาน เห็นได้จากแนวโน้มของความต้องการเช่าพื้นที่สำนักงานในปี 2565 ที่จะปรับตัวสูงขึ้นเพียง 10,000 ตร.ม. จากปี 2564 ชะลอลงจากค่าเฉลี่ยในอดีต (ปี 2559-2563) ที่เคยเพิ่มขึ้นกว่าปีละ 128,000 ตร.ม. สวนทางกับพื้นที่สำนักงานใหม่ที่กำลังจะทยอยสร้างเสร็จในปี 2565 ถึง 400,000 ตร.ม. ส่งผลให้อัตราเช่า (Occupancy Rate: OR) ของธุรกิจสำนักงานในภาพรวมจึงปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 85% เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว บทความนี้จึงอยากชวนมาประเมินแนวโน้มของธุรกิจสำนักงานให้เช่าในช่วงปี 2566-2567 พร้อมวิเคราะห์หาแนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการท่ามกลางภาวะที่พื้นที่สำนักงานใหม่ๆ มีแนวโน้มเติบขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าความต้องการเช่าอยู่หลายเท่าตัว

แนวโน้มธุรกิจสำนักงานให้เช่าในปี 2566-2567 จะเป็นอย่างไร?

KrungthaiCOMPASS คาดว่าการที่หลายบริษัทจะยังคงมีนโยบายอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากสถานที่ใดก็ได้ (RemoteWorking) ทั้งการ WFH และ Hybrid Working จะส่งผลให้ความต้องการเช่าออฟฟิศสำนักงานชะลอตัวลงจากในอดีต (ปี 2559-2563) ที่เคยเพิ่มขึ้นถึงปีละ 128,000 ตร.ม. มาอยู่ที่ปีละ 50,000 ตร.ม. ในช่วงปี 2566-2567 ทั้งนี้ แม้การระบาดของ COVID-19 จะทยอยคลี่คลายลง แต่เรายังจะได้เห็นการขอลดพื้นที่เช่าหรือคืนพื้นที่เช่าอย่างต่อเนื่องตามกระแส WFH และ Hybrid Working ที่หลายๆ บริษัทยังอนุญาตให้พนักงานสามารถเลือกสถานที่ทำงานได้แม้จะผ่านช่วงการระบาดอย่างหนักมาแล้วก็ตาม มุมมองดังกล่าวมีความสอดคล้องกับผลสำรวจเรื่อง “FutureofWorkSurvey” ของ JLL ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำที่ระบุว่า 53% ขององค์กรทั่วโลกจะใช้นโยบายอนุญาตให้พนักงานสามารถทำงานจากสถานที่ไหนก็ได้แบบถาวรภายในปี 2568 (ค.ศ. 2025) เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่มองว่านโยบายดังกล่าวจะมีส่วนอย่างมากต่อการดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้กับองค์กรตนเอง (รูปที่ 1) ทั้งนี้ แนวโน้มการขอลดพื้นที่เช่าลงของผู้เช่ายังสอดคล้องกับอีกหนึ่งข้อมูลของ JLL ที่ระบุว่าหลังยุค COVID-19 ผู้เช่ามีพฤติกรรมการเช่าที่ลดการใช้พื้นที่ลงจากแต่ก่อนที่พนักงาน 1 คนจะใช้พื้นที่ 10 ตร.ม. ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 7 ตร.ม.

อย่างไรก็ดี พื้นที่สำนักงานใหม่กลับมีแนวโน้มที่จะทยอยก่อสร้างเสร็จอย่างต่อเนื่องอีกกว่าปีละ 460,000 ตร.ม. ในระหว่างปี 2566-2667 เร่งตัวขึ้นเกือบ 2 เท่าจากค่าเฉลี่ยย้อนหลังในอดีตที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 200,000 ตร.ม. ต่อปี โดยพื้นที่สำนักงานใหม่ที่กำลังจะเพิ่มขึ้นมากมีสาเหตุหลักมาจากความน่าสนใจของธุรกิจให้เช่าในอดีตที่มีค่า OR อยู่ในระดับสูงถึง 90-95% มาอย่างต่อเนื่องจึงดึงดูดให้ผู้ประกอบการหลายรายได้หันมาลงทุนพัฒนาสำนักงานให้เช่ามากขึ้น สังเกตได้จากสถิติการขออนุญาตก่อสร้างสำนักงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงปี 2560-2565 ที่ 1,260,000 ตร.ม.ต่อปี เพิ่มขึ้นจากในอดีตที่มักมีการขออนุญาตก่อสร้างเพียงประมาณ 913,000 ตร.ม. ต่อปี โดย พื้นที่สำนักงานใหม่ที่กำลังจะสร้างเสร็จและพร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในช่วง 1-2 ปีนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในย่านศูนย์ธุรกิจกลาง (Central Business District: CBD) เช่น โครงการ OneCityCentre ของ RML โครงการ Park Silom ของ NYE และ RGP โครงการ CentralParkOffices ของ DUSIT และ CPN ส่วนอีกหนึ่งโครงการขนาดใหญ่อย่าง OneBangkok บน ถ.พระราม 4 ของ TCCAsset ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีพื้นที่สำนักงานรวมเกือบ 200,000 ตร.ม. นั้นคาดว่าจะทยอยสร้างเสร็จและเปิดให้บริการได้ในช่วงปี 2566-2567 ดังแสดงในรูปที่ 2

การเพิ่มขึ้นของพื้นที่สำนักงานในระดับที่สูงกว่าความต้องการเช่ามีแนวโน้มที่จะกดดันให้ค่า OR โดยรวมของธุรกิจสำนักงานให้เช่าปรับตัวลงมาอยู่ที่ 80.5% และ 77.3% ในปี 2566-2567 ซึ่งถือเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับจุดคุ้มทุนของธุรกิจสำนักงานให้เช่าที่มักอยู่ในระดับ 75-80%  [1]ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินว่าความต้องการเช่าออฟฟิศสำนักงานในปี 2566-2567 อาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 8.26 ล้านตร.ม. ในปี 2565 มาอยู่ที่ 8.30 และ 8.36 ล้านตร.ม. ตามลำดับ ขณะที่พื้นที่สำนักงานจะเพิ่มขึ้นจาก 9.89 ล้านตร.ม. เป็น 10.31 และ 10.81 ล้านตร.ม. ในช่วงเวลาเดียวกัน ทำให้ค่า OR ในภาพรวมของธุรกิจสำนักงานให้เช่ามีแนวโน้มลดลงจาก 83.5% ในปี 2565 มาอยู่ที่ 80.5% และ 77.3% ในปี 2566-2567 (รูปที่ 3) นอกจากนี้ คาดว่าค่า OR โดยรวมที่ลดลงมีแนวโน้มจะทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้นผ่านการปรับลดอัตราค่าเช่าเพื่อดึงดูดทั้งกลุ่มผู้เช่าเดิมและผู้เช่ารายใหม่ ส่งผลให้อัตราค่าเช่าสำนักงานโดยเฉลี่ยจึงมีแนวโน้มปรับตัวลงจากราว 820 บาท/ตร.ม./เดือน ลงมาอยู่ที่ 800 และ 780 บาท/ตร.ม./เดือน ติดลบเฉลี่ยที่ปีละ 2.8% ในช่วงปี 2566 และ 2567 ซึ่งถือเป็นปัจจัยลบโดยตรงทั้งต่อรายได้และการทำกำไรของผู้ประกอบธุรกิจสำนักงานให้เช่า

เป็นข้อสังเกตว่าค่า OR ที่จะลดลงมาในระดับ 75-80% อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าธุรกิจสำนักงานให้เช่าในภาพรวมของไทยของไทยมีโอกาสเข้าสู่ “ภาวะอิ่มตัว”  เนื่องจากค่า OR ในระดับดังกล่าวค่อนข้างปรับตัวลงมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับจุดคุ้มทุนที่อย่างเห็นได้ชัด การลงทุนพัฒนาสำนักงานให้เช่าโครงการใหม่ๆ จึงควรพิจารณาและไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน ถึงความเสี่ยงของธุรกิจที่จะมีมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ดี KrungthaiCOMPASS เล็งเห็นว่าอาคารสำนักงานประเภท GreenBuilding หรือ “GreenOffice” ยังเป็น Segment หนึ่งของธุรกิจสำนักงานให้เช่าที่ยังมีแนวโน้มได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้เช่า โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติและบริษัทขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับกระแส ESG สะท้อนข้อมูลของ KnightFrank ที่ระบุว่าค่า OR ของ GreenOffice ใน 9M/2565 ยังอยู่ในระดับสูงถึง 85.8% มากกว่าภาพรวมของตลาดสำนักงานที่ 80.3% ในส่วนถัดไป เราจึงจะมาทำความรู้จัก และวิเคราะห์ความน่าสนใจของการพัฒนา Green Office กันว่าเมื่อเทียบกับสำนักงานทั่วไปแล้วมีความแตกต่างกันอย่างไร?

Green Office คืออะไร? ทำไมถึงเป็นตัวเลือก ที่น่าสนใจในการพัฒนา?

สำนักงานประเภท Green Building หรือ “Green Office” คือ อาคารสำนักงานที่มีการออกแบบและก่อสร้างโดยมุ่งหวังให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์พลังงาน โดยตัวอย่างของมาตรฐาน GreenBuilding ที่ได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลายในระดับโลกและไทยอย่าง LEED [2]จะมีหัวข้อที่ใช้ในการประเมินความเป็น GreenBuilding อยู่ด้วยกัน 7-8 ด้าน ประกอบไปด้วย Location&Transportationที่จะสนับสนุนให้ผู้ใช้อาคารเลือก Mode การเดินทางที่ปล่อยมลภาวะต่ำ SustainableSitesเพื่อส่งเสริมให้การออกแบบและพัฒนาอาคารส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้น้อยที่สุด Water Efficiency สำหรับการลดปริมาณการใช้น้ำในอาคาร Energy&Atmosphereสำหรับการลดการใช้พลังงานโดยรวมและสนับสนุนให้ใช้พลังงานทดแทน Material& Resource เพื่อลดการใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง หรือที่ไม่ได้รับมาตรฐานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Indoor Environmental Quality ให้ผู้ใช้อาคารอยู่สบายและมีสุขภาพดีเมื่อใช้กิจวัตรประจำวันในอาคาร Innovation ให้เจ้าของอาคารนำนวัตกรรมที่ไม่ได้กำหนดใน LEED มาใช้และได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเกณฑ์ และ Regional Priority[3] สนับสนุนให้การก่อสร้างอาคารต้องคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในท้องถิ่นนั้นๆ ดังแสดงในรูปที่ 4

ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา Green Office ที่ได้มาตรฐาน LEED ในไทยมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 14 โครงการ ในปี 2556 ขึ้นมาอยู่ที่ 83 โครงการในปี 2565 และมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องขึ้นไปแตะระดับ 100 โครงการได้ในปี 2567 ตามกระแส ESG ที่กระตุ้นให้ผู้พัฒนาอาคารสำนักงานต้องหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดย GreenOffice ที่โดดเด่นและเป็นที่รู้จักมีทั้งสำนักงานส่วนบุคคล (PrivateOffices) อาทิ สำนักงานของตลท. (TheStockExchangeofThailand) ที่ ถ.รัชดา อาคารเอสซีจี 100 ปี (SCG100thYearBuilding) หรือสำนักงานใหญ่ของ BCP ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้ BTS สถานีบางจาก ตลอดจนสำนักงานให้เช่า (CommercialOffices) เช่น โครงการ ParkVentureEcoplex ที่อยู่ติดกับ BTS สถานีเพลินจิต โครงการ SinghaComplex ที่ตั้งอยู่บริเวณแยกอโศก-เพชรบุรี โครงการ FYICenter ที่ติดกับ MRT สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์และโครงการ AIA Capital Center ที่ตั้งอยู่บน ถ.รัชดา เป็นต้น (รูปที่ 5)

 

แรงผลักดันหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มหันมาพัฒนา GreenOffice กันมากขึ้นเป็นเพราะ 1) ผู้พัฒนาสามารถขยายกลุ่มผู้เช่าไปยังกลุ่มบริษัทข้ามชาติ และบริษัทขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือกระแส ESG ซึ่งเปิดโอกาสให้สามารถตั้งอัตราค่าเช่าได้สูงกว่าสำนักงานทั่วไปในพื้นที่ราว 20-30% สะท้อนจากข้อมูลอัตราค่าเช่า Green Office ในพื้นที่ CBD และ Non-CBD โดยเฉลี่ยที่อยู่ในระดับ 1,400 และ 1,025 บาท/ตร.ม./เดือน สูงกว่าสำนักงานโดยเฉลี่ยในพื้นที่ที่ 1,055 และ 850 บาท/ตร.ม./เดือน อยู่ราว 33% และ 20% ตามลำดับ มุมมองดังกล่าวสอดคล้องกันกับผลสำรวจจากรายงาน “Future of Work Survey” ของ JLL[4] บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำที่ชี้ว่า 74% ขององค์กรทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะยอมจ่ายค่าเช่าสำนักงานสูงขึ้นเพื่อแลกกับการเช่าสำนักงานประเภท GreenOffice และ 56% ขององค์กรระบุว่าจะดำเนินการเช่า GreenOffice ให้เสร็จสิ้นให้เสร็จสิ้นภายในปี 2568 (ค.ศ. 2025) โดยจากองค์กรที่เป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดพบว่ามีเพียง 7% เท่านั้นที่ไม่เคยพิจารณาเรื่องการเช่า Green Office เลย (รูปที่ 6)

นอกจากประเด็นเรื่องอัตราค่าเช่าแล้ว การพัฒนา Green Office ยังสามารถช่วยให้ผู้ประกอบการ 2) ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน อาทิ ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำได้ถึง 30% [5]และ 20% ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ค่าไฟฟ้ามีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยแนวทางตัวอย่างในการพัฒนา Green Office ให้ประหยัดพลังงาน เช่น อาคาร ParkVenture ที่ได้รับรองมาตรการ LEED ในระดับสูงสุด คือ Platinum มีการเลือกใช้กระจกอนุรักษ์พลังงาน 3 ชั้น (Low-e) ที่มีคุณสมบัติช่วยลดแสงแดด และความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร อีกทั้งยังมีการใช้ระบบลิฟต์อัจฉริยะ (IntelligentLiftSystem) ระบบปรับอากาศที่ช่วยควบคุมความเย็นให้เหมาะสมกับความร้อนในแต่ละพื้นที่ (VariableAirVolumeControl System) รวมถึงยังมีการนำน้ำที่ใช้แล้วภายในอาคารมาบำบัดและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Greywater Reuse) และใช้รดน้ำต้นไม้ภายในโครงการ จึงช่วยให้อาคารสามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 30% หรือในกรณีอาคาร Rajanakarn ที่ได้ยกระดับจากสำนักงานทั่วไปเข้าสู่มาตรฐาน GreenBuilding ในระดับ Gold ก็ได้มีการลงทุนติดตั้งระบบบริหารจัดการอาคารอัตโนมัติ (Building AutomationSystem) เพื่อให้สามารถควบคุมระบบปรับอากาศ และระบบไฟฟ้าภายในอาคารเป็นรายพื้นที่ได้ อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนหลอดไฟในอาคารให้เป็น LED ซึ่งช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 30% (รูปที่ 7)

KrungthaiCOMPASS ประเมินว่า ด้วยจุดเด่นของ GreenOffice ทั้งการที่สามารถ 1) กำหนดอัตราค่าเช่าได้สูงกว่าสำนักงานทั่วไป 20-30% ประกอบกับ    2) การช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับผู้ประกอบการ จะส่งผลให้การลงทุนพัฒนาโครงการสำนักงานใหม่ๆ ในรูปแบบ GreenOffice มีระยะเวลาคืนทุนที่เร็วกว่าสำนักงานทั่วไปราว 2-3 ปี โดยภายใต้สมมติฐานที่กำหนดขึ้น KrungthaiCOMPASS ประเมินว่าการพัฒนา GreenOffice ที่มีขนาดพื้นที่ปล่อยเช่า 50,000 ตร.ม. จะใช้ระยะเวลาคืนทุนที่ 16.5-21.2 ปี เร็วกว่าการพัฒนาสำนักงานทั่วไปในขนาดเท่ากันที่ 18.8-24.2 ปี อยู่ 2.3-3.0 ปี (รูปที่ 8) นอกจากนี้ เจ้าของอาคารสำนักงานทั่วไปก็สามารถลงทุนเพื่อยกระดับให้เป็น GreenOffice ได้เช่นกัน แต่อาจมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับอายุ และโครงสร้างของสำนักงานแต่ละแห่ง ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงอาจพิจารณาว่าจ้างที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดทำมาตรฐาน LEED อาทิ SCG Building & Living caresolution เพื่อให้เข้ามาช่วยประเมินเชิงลึกก่อนที่เริ่มจะดำเนินงาน

ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการพัฒนาอาคารสำนักงานใหม่ และการปรับปรุงอาคารสำนักงานเดิมให้กลายเป็น GreenOffice รวมถึง ContactPoint ในการติดต่อที่ปรึกษาเพื่อจัดทำมาตรฐาน LEED สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความ GRESB และ LEED2 มาตรฐาน ESG ระดับโลกของธุรกิจอสังหาฯ”

สรุป:

Krungthai COMPASS ประเมินธุรกิจสำนักงานให้เช่าในช่วงปี 2566-2567 ว่าการแข่งขันมีแนวโน้มอยู่ในภาวะรุนแรง โดยมีแรงกดดันหลักจาก 1) การชะลอตัวของความต้องการเช่าจากกระแส WFH และ Hybrid Working ที่จะส่งผลผู้เช่าบางส่วนตัดสินใจลดหรือยกเลิกพื้นที่เช่าลง สวนทางกับ 2) พื้นที่สำนักงานใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมากถึงปีละ 460,000 ตร.ม. ตามแผนงานก่อสร้างสำนักงานต่างๆ ที่จะทยอยแล้วเสร็จในช่วง 1-2 ปีนี้ ดังนั้น ค่า OR โดยรวมของธุรกิจจึงมีโอกาสปรับตัวลงมาอยู่ในกรอบ 75-80% และมีโอกาสที่ผู้ประกอบธุรกิจสำนักงานจะต้องปรับลดอัตราค่าเช่าเพื่อดึงดูดกลุ่มผู้เช่าซึ่งถือเป็นปัจจัยลบต่อรายได้และการทำกำไรของตัวผู้ประกอบการเอง

อย่างไรก็ดี เราเล็งเห็นว่าสำนักงานประเภท GreenBuilding หรือ Green Office ยังคงเป็น Segment ที่น่าสนใจสะท้อนจากการได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้เช่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับกระแส ESG ส่งผลให้ค่า OR ของ GreenOffice อยู่ในระดับสูงกว่าภาพรวมของตลาดกว่า 5% นอกจากนี้ Krungthai COMPASS ยังพบว่าแม้ Green Office จะมีต้นทุนในการพัฒนาที่สูงกว่าสำนักงานทั่วไปราว 15% แต่การที่ Green Office สามารถกำหนดอัตราค่าเช่าได้สูงขึ้น 20-30% และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งไฟฟ้า และน้ำ จะช่วยให้การลงทุนพัฒนา Green Office โครงการใหม่ๆ มีระยะเวลาคืนทุนเร็วกว่าสำนักงานทั่วไปราว 2-3 ปี การพัฒนาโครงการสำนักงานใหม่ๆ ในภาวะที่การแข่งขันอยู่ในระดับสูงนั้น จึงควรพิจารณาการยกระดับสู่มาตรการ Green Building เช่นเดียวกับเจ้าของสำนักงานทั่วไปก็สามารถลงทุนเพื่อยกระดับอาคารเดิมสู่ Green Office ได้เช่นกัน

Visitors: 5,425,223