แชร์

ความเสี่ยงทางการค้าเพิ่มสูงขึ้น หลังทรัมป์เตรียมใช้นโยบาย Reciprocal Tariffs ในการกำหนดภาษีตอบโต้

อัพเดทล่าสุด: 18 ก.พ. 2025
143 ผู้เข้าชม

เงินเฟ้อสหรัฐฯ สูงกว่าคาด กระทบโอกาสเฟดลดดอกเบี้ยเดือนมีนาคม ในเดือนมกราคม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นสู่ 3.0% YoY จากเดือนก่อนที่ 2.9% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นสู่ 3.3% จากเดือนก่อนที่ 3.2%

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจะลดทอนโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม แต่เศรษฐกิจยังเผชิญแรงกดดันจากยอดรีไฟแนนซ์หนี้และอัตราการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น ล่าสุด นายโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามให้มีการศึกษาแผนการจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) กับประเทศต่างๆ โดยพิจารณาจากด้านที่มิใช่ภาษีศุลกากร (Non-Tariffs) ด้วย ซึ่งอาจเพิ่มความตึงเครียดทางการค้าและเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เบื้องต้นคาดว่าผลการศึกษาจะเสร็จภายในวันที่ 1 เมษายนนี้ นอกจากนี้ นโยบายปราบปรามผู้อพยพผิดกฎหมายยังเพิ่มความเสี่ยงต่อตลาดแรงงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ วิจัยกรุงศรีจึงประเมินว่าเฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีก 0.50-0.75% ในปีนี้ เพื่อป้องกันการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

เศรษฐกิจยูโรโซนเปราะบาง ท่ามกลางความเสี่ยงทางการเมืองและสงครามการค้า คาดหนุน ECB เดินหน้าลดดอกเบี้ย เศรษฐกิจยูโรโซนโต 0% QoQ ในไตรมาส 4 ปี 2567 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 0.4% ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวแรงขึ้นจาก -1.8% ในเดือนพฤศจิกายน สู่ระดับ -2.0% YoY ในเดือนธันวาคม

เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงเผชิญความไม่แน่นอนจากราคาพลังงานที่สูง ความเสี่ยงทางการเมืองในเยอรมนีและฝรั่งเศส รวมทั้งความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ นอกจากนี้ แผนการจัดเก็บภาษีแบบ Reciprocal tariffs ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ คาดส่งผลกระทบต่อสหภาพยุโรปมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก (รองจากอินเดียและบราซิล) และยังเป็นการลดโอกาสในการเจรจาเนื่องจากสหภาพยุโรปรวมถึงประเทศอื่นๆ ไม่ได้อยู่ในสถานะทางการคลังที่จะสามารถปรับลดฐานภาษีของตนได้ ด้วยเหตุนี้ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่ระดับ 2.00% ในปีนี้

ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังเปราะบาง ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ยอดขายบ้านใหม่ของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 100 อันดับแรกในเดือนมกราคมหดตัวเล็กน้อยที่ -3.2% YoY จาก 0% ในเดือนธันวาคม ล่าสุดรัฐบาลกำลังพิจารณาให้การสนับสนุนทางการเงินกับบริษัท Vanke มูลค่าราว 50 พันล้านหยวน ด้านเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับต่ำที่ 0.5% YoY เพิ่มขึ้นจาก 0.1% ในเดือนธันวาคม สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่กระเตื้องขึ้นแต่ยังอ่อนแอ

สถานการณ์ของภาคอสังหาฯมีแนวโน้มดีขึ้นบ้างในระยะที่ผ่านมา แต่ปัญหาหนี้สินและสภาพคล่องทางการเงินยังคงเป็นแรงกดดันสำคัญ โดยผู้พัฒนาอสังหาฯ หลายรายเผชิญกับการฟ้องร้องให้มีการชำระบัญชี ขณะที่ยอดขายอสังหาฯ รวมในปี 2567 ยังคงต่ำกว่าจุดสูงสุดในปี 2564 ถึง 45.7% (ดังรูป) ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนในภาพรวมยังคงเผชิญแรงกดดันจากปัญหาอุปทานส่วนเกินในภาคการผลิตและภาคอสังหาฯ รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง ในระยะต่อไปจีนจึงจำเป็นต้องพึ่งพาแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเพื่อพยุงการเติบโตทางเศรษฐกิจท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น

เศรษฐกิจไทย

ในปี 2567 เศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 2.5% วิจัยกรุงศรีเตรียมปรับลดคาดการณ์ปีนี้

อัตราเงิน GDP ไตรมาส 4 ปี 2567 แม้เติบโตได้ 3.2% YoY แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยแม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สภาพัฒน์ฯ รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนขยายตัว 3.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.9% และเมื่อหักผลของฤดูกาลออกแล้ว GDP เติบโตเพียง 0.4% QoQ เทียบกับ 1.2% ในไตรมาสก่อนหน้า สำหรับทั้งปี 2567 เศรษฐกิจไทยยังเติบโตต่ำที่ 2.5% จาก 2.0% ในปี 2566 ส่วนในปี 2568 สภาพัฒน์ฯ ยังคงคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไว้ที่ 2.3-3.3% (ค่ากลางที่ 2.8%)

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ฟื้นตัวต่ำกว่าคาด และแรงส่งมีสัญญาณอ่อนแอลง สะท้อนจาก  (i) การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในระดับเดิมแม้จะมีมาตรการแจกเงินสด แก่กลุ่มเปราะบางกว่า 1.4 แสนล้านบาทตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนปีก่อน (ii) การลงทุนภาคเอกชนยังหดตัวแม้การลงทุนภาครัฐเติบโตเร่งขึ้น ชี้ถึงการขาด crowding-in effect และ (iii) การส่งออกสินค้าแม้ขยายตัวเกินคาด แต่ไม่สามารถช่วยหนุนการลงทุนภาคเอกชนและการผลิตภาคอุตสาหกรรม

สำหรับแนวโน้มปี 2568 วิจัยกรุงศรีเตรียมปรับลดคาดการณ์ GDP ลงจาก 2.9% เนื่องจาก (i) อุปสงค์ในประเทศอ่อนแอทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน  (ii) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ส่งผลบวกค่อนข้างจำกัด (เฟส 2 วงเงินเพียง 30,000 ล้านบาท และเหลือวงเงินอีก 1.57 แสนล้านบาท สำหรับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในปีนี้) (iii) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจไม่เป็นไปตามที่เคยคาดไว้ที่ 40 ล้านคน เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนฟื้นตัวช้า และ (iv) หากสหรัฐฯ ปรับขึ้นภาษีนำเข้าอาจกระทบต่อการค้าและการส่งออกของไทย

ทั้งนี้ ปัจจัยบั่นทอนและความเสี่ยงข้างต้นเปิดทางให้กนง.ปรับลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ และหากไม่มีการปรับดอกเบี้ยในเดือนนี้ ยังมีโอกาสที่จะเห็นการปรับลดในเดือนเมษายน หลังมีความชัดเจนเรื่องภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัวต่อเนื่องแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ทางการขยายมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยเพื่อบรรเทาปัญหาหนี้ครัวเรือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคมปรับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน ที่ 59.0 จาก 57.9 ในเดือนธันวาคม ปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การท่องเที่ยวในประเทศที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวก้บโอกาสในการหางาน รายได้ในอนาคต ตลอดจนค่าครองชีพที่ยังทรงตัวในระดับสูง

แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้นต่อเนื่องแต่นับว่ายังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด  (ปี 2562 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 75.5) ขณะที่แรงหนุนหลักจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นการใช้จ่ายในระยะสั้น อาทิ การแจกเงินสด 10,000 บาท เฟส 1 กับกลุ่มเปราะบาง (ราว 14 ล้านคน) และเฟส 2 แก่กลุ่มผู้สูงอายุ (กว่า 3 ล้านคน) สำหรับแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่าจะเติบโตชะลอลงจากปีก่อนๆ ส่วนหนึ่งได้รับแรงกดดันจากค่าจ้างที่แท้จริงที่อยู่ในระดับต่ำ โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยปี 2562 (ก่อนโควิด) เพียง 3.2% ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่าย ทั้งนี้ ยังต้องติดตามผลจากมาตรการบรรเทาภาระหนี้ของลูกหนี้รายย่อยผ่านโครงการคุณสู้ เราช่วย ซึ่งล่าสุดมีการขยายไปยังกลุ่มลูกค้านอนแบงก์ และขยายเวลาลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการออกไปเป็นสิ้นเดือนเมษายนนี้


 


บทความที่เกี่ยวข้อง
XPG โชว์ฟอร์ม Q1/68 กำไรโตแรง 24.27% เดินหน้าธุรกิจสินเชื่อ-กองทุน-โทเคน พร้อมรับมือเศรษฐกิจท้าทาย 
XSpring Capital (XPG) โชว์ฟอร์มเหนือความท้าทาย ผลงานไตรมาส 1 ปี 2568 โตทุกกลุ่ม กวาดรายได้รวมกว่า 259 ล้านบาท พุ่งกว่า 6.38% มีกำไรสุทธิ 63 ล้านบาท พุ่งกว่า 24.27% จากการเดินเกมรุกธุรกิจสินเชื่อ
9 พ.ค. 2025
ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เยี่ยมชมงานลูกค้าและเยี่ยมสาขาในพื้นที่ จ.สระแก้ว
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วย นายนพพร สำมณี ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันออก ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงาน วิสาหกิจชุมชนบ้านเจ็ดหลัง พาเพลิน
9 พ.ค. 2025
ซีพี แอ็กซ์ตร้า เติบโตแข็งแกร่งโชว์ไตรมาส 1/2568 ทำรายได้รวม 129,950 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,643 ล้านบาท ออนไลน์โตเด่น ตอกย้ำผู้นำอันดับ 1 Grocery E-Commerce Platform ของไทย
บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ หรือ CPAXT) ผู้นำธุรกิจค้าส่งค้าปลีก แม็คโคร-โลตัส รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ของปี 2568 มีรายได้รวม 129,950 ล้านบาท
9 พ.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy