แชร์

สงครามการค้าเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกและอาจหนุนให้ธนาคารกลางหลายแห่งทยอยปรับลดดอกเบี้ยในปีนี้ ขณะที่จีนยังพึ่งมาตรการกระตุ้นภายในประเทศเป็นหลัก

อัพเดทล่าสุด: 22 เม.ย. 2025
133 ผู้เข้าชม

เฟดส่งสัญญาณไม่รีบปรับลดดอกเบี้ย ท่ามกลางนโยบายการค้าที่มีความไม่แน่นอนสูง เฟดสาขาแอตแลนตา เปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจหดตัว 2.2% ในไตรมาสที่ 1 จากคาดการณ์เดิมขยายตัว 2.3% ขณะที่เฟดสาขาฟิลาเดลเฟียเผยดัชนีภาคการผลิตออกมาต่ำกว่าคาดในเดือนเมษายน โดยลดลงสู่ระดับ -26.4 จาก +12.5 ในเดือนก่อนหน้า

นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดส่งสัญญาณไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ยแม้ข้อมูลบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงในไตรมาส 1 เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลงเนื่องจากการเรียกเก็บภาษีศุลกากรอาจผลักดันให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นห่างออกจากเป้าหมายของเฟดที่ 2% ซึ่งส่งผลให้เฟดอาจต้องรอความชัดเจนมากขึ้นก่อนที่จะปรับจุดยืนด้านนโยบาย นอกจากนี้ การเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) ออกไปอีก 90 วัน (ยกเว้นจีน) ช่วยลดความผันผวนของตลาดการเงิน สะท้อนจากแรงซื้อที่กลับเข้ามาในตลาดหุ้นและพันธบัตรหลังจากเผชิญแรงเทขายอย่างหนักก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้สู่ระดับ 3.50-3.75% ในช่วงสิ้นปี

ECB ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายและมีแนวโน้มปรับลดต่อเนื่องจากสงครามการค้าฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน ในเดือนเมษายน ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ZEW) ปรับลดลงสู่ระดับ -18.5 ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม ชะลอลงสู่ระดับ 2.2% YoY ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงสู่ 2.4% ต่ำสุดในรอบ 41 เดือน

ความตึงเครียดและความไม่แน่นอนของสงครามการค้าเพิ่มความเสี่ยงขาลงต่อเศรษฐกิจยูโรโซน บ่งชี้จากระดับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ปรับลงแรง ภาคบริการที่ขยายตัวช้าลง รวมถึงภาคการผลิตและส่งออกที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง ซึ่งได้นำไปสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ลง 0.25% สู่ระดับ 2.25% ในการประชุมวันที่ 17 เมษายน นอกจากนี้ ภาษีสินค้านำเข้ากลุ่มยาและเวชภัณฑ์คาดว่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ในยุโรป เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ที่สำคัญคิดเป็น 38.2% ของการส่งออกทั้งหมดนอกกลุ่มยุโรปในปี 2567 อีกทั้งยังอาจนำไปสู่การย้ายฐานการลงทุนไปยังสหรัฐฯ อีกด้วย จากภาพความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ECB มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับ 1.75% ณ สิ้นปี 2568 จากปัจจุบันที่ 2.25%

จีนยังได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้น แต่สงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอลงในระยะข้างหน้า โดย GDP ของจีนในไตรมาสแรกขยายตัวถึง 5.4% YoY ขณะที่การเติบโตของยอดค้าปลีกสูงขึ้นจาก 4% ในช่วงสองเดือนแรกเป็น 5.9% ในเดือนมีนาคม ส่วนการส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นจาก 2.3% เป็น 12.4% อย่างไรตาม ยอดขายบ้านใหม่พลิกกลับมาหดตัวอีกครั้งจาก 3.2% ในเดือนกุมภาพันธ์เป็น -11.4% ด้านสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเป็น 145% (บังคับใช้วันที่ 10 เมษายน) ขณะที่จีนขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้กลับสหรัฐฯ เป็น 125% (บังคับใช้วันที่ 12 เมษายน)

เศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกยังขยายตัวได้ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการอุดหนุนการแลกซื้อสินค้าใหม่ แต่ในช่วงที่เหลือของปี จีนเผชิญความเสี่ยงจากการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งจะส่งผลต่อการจ้างงานและกำลังซื้อ โดยล่าสุด ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและตลาดแรงงานยังอ่อนแอ อัตราการว่างงานของกลุ่มคนหนุ่มสาววัย 16-24 ปีสูงถึง 16.5% ในเดือนมีนาคม ดังนั้น รัฐบาลจึงอาจต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นรายได้ของประชาชนตามที่เคยประกาศไว้ เพื่อประคับประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ราว 5%

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยเผชิญแรงกระแทกสองระลอก มีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในปีนี้

ธปท.ประเมิน GDP ไทยปีนี้เสี่ยงโตต่ำกว่า 2.5% ด้านวิจัยกรุงศรีคาดกนง.อาจใช้แนวทาง wait-and-see ในเดือนนี้ เพื่อเตรียมเก็บกระสุนด้านดอกเบี้ยไว้ใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ระบุว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง) ครั้งที่ผ่านมาในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ภายใต้การคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีกับสินค้าไทยที่ 10% ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 2.5% แต่หากสหรัฐฯปรับขึ้นภาษีกับไทยมากกว่า 10% ผลกระทบอาจรุนแรงขึ้น และส่งผลให้ GDP ปีนี้มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่า 2.5%   

วิจัยกรุงศรีประเมินผลกระทบจากปัจจัยคุกคามคู่ (Twin shocks) ทั้งจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปลายเดือนมีนาคม และการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก  GDP ปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ จึงเพิ่มความเป็นไปได้ที่กนง.อาจผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่ากนง.จะคงดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 30 เมษายนนี้ สะท้อนจาก Forward guidance ล่าสุดของธปท ที่ระบุว่า (i) แม้อัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯเรียกเก็บกับไทยจะสูงกว่าที่คาดไว้ (36%) แต่ปัจจุบันมีการเลื่อนเก็บเป็นเวลา 90 วัน ผลกระทบจึงน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังและปีหน้า (ii) ในการประเมิน GDP ครั้งล่าสุดของ ธปท. ใช้สมมติฐานว่าอัตราภาษีตอบโต้จะอยู่ที่ 10% ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นสถานการณ์ปัจจุบันในช่วงระยะเวลาผ่อนผัน 90 วันนี้  (iii) ธปท.ประเมินว่ามีผลกระทบจำกัดเฉพาะในบางภาคเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่จะกระทบด้านภาคการผลิต (Supply side) ซึ่งธปท. ย้ำเสมอว่าการใช้นโยบายการเงินไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด ควรแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้างหรือยกระดับภาคการผลิต และ (iv) แม้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย แต่ธปท. มองว่าเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน และจะทยอยปรับเข้าสู่กรอบในระยะปานกลาง จากการสื่อสารของธปท.ดังกล่าวส่งสัญญาณว่ากนง.อาจจับตาและรอดูสถานการณ์ความชัดเจน (wait-and-see stance) ในระยะนี้ เพื่อเตรียมเก็บกระสุนด้านดอกเบี้ยนโยบายที่มีอยู่อย่างจำกัดไว้ใช้ในช่วงครึ่งปีหลัง หากความเสี่ยงจากสงครามการค้ารุนแรงขึ้นและมีแนวโน้มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม

จับตาการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ กลางสัปดาห์นี้ เตรียมเสนอแผนลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรีเผยว่าทางสหรัฐฯ ได้ตอบรับการเจรจากับประเทศไทย โดยกำหนดขึ้นในวันที่ 23 เมษายนนี้ เบื้องต้นกำหนดแผนงานเจรจาภายใต้ 5 แนวทางหลัก ได้แก่  (i) ความร่วมมือในธุรกิจอาหารแปรรูปไทย-สหรัฐฯ (ii) เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ อาทิ พลังงาน เครื่องบิน และสินค (iii) เปิดตลาด ลดภาษีนำเข้า ลดอุปสรรคทางการค้า (iv) ตรวจสอบอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันการแอบอ้างถิ่นกำเนิดสินค้า (v) ส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น (ดังตาราง)

การเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ในวันที่ 23 เมษายนนี้ นับเป็นก้าวแรกบนความหวังที่จะช่วยผ่อยคลายสถานการณ์ตึงเครียดทางการค้าลงได้บ้าง โดยฝ่ายไทยเตรียมเสนอแผนลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลง 50% ภายใน 5 ปี ผ่าน 5 แนวทางหลักข้างต้น ทั้งนี้ หากการเจรจาดำเนินไปอย่างมีความคืบหน้า จะบรรเทาความเสี่ยงจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่อาจปรับขึ้นสูงถึง 36% ในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม หากไทยไม่สามารถสร้างผลลัพธ์เชิงรูปธรรมได้ ขณะที่ประเทศคู่แข่งสามารถเร่งสร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ ได้ก่อน ย่อมอาจส่งผลให้ไทยเสียเปรียบในการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 18.3% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย


บทความที่เกี่ยวข้อง
เดินทางอย่างไร้กังวล! FWD ประกันชีวิต แจกประกันอุบัติเหตุฟรี 30,000 สิทธิ์ ในช่วงวันหยุดเดือนพฤษภาคม!
ในช่วงวันหยุดเดือนพฤษภาคม 2568 ซึ่งได้แก่วันแรงงานแห่งชาติ (1 พฤษภาคม) วันฉัตรมงคล (4-6 พฤษภาคม) และวันวิสาขบูชา (10-12 พฤษภาคม)
30 เม.ย. 2025
ไอแบงก์ ลงนาม MOU สินเชื่อสวัสดิการแก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำ  สำนักงานศาลยุติธรรม กว่า 16,000 คน ทั่วประเทศ  เพื่อส่งต่อบริการทางการเงินที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โดย ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการธนาคาร และนายธีรทัย เจริญวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
30 เม.ย. 2025
ธ.ก.ส. จัดเต็ม! เสิร์ฟโปรโมชันพิเศษและสินค้าแกลมเกษตร ในงาน MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย
ธ.ก.ส. นำเสนอโปรโมชันพิเศษในงาน “MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย” ในโอกาสครบรอบ 150 ปีกระทรวงการคลัง
30 เม.ย. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy