แชร์

SCB FM มองเงินบาทอาจอ่อนค่าได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวเงินบาทอาจแข็งค่า จากความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ ที่ลดลง ทำให้ดอลลาร์อ่อน

อัพเดทล่าสุด: 23 เม.ย. 2025
124 ผู้เข้าชม

กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่า เงินบาทช่วงที่ผ่านมาแข็งค่าเร็ว ซึ่งไม่ใช่เพราะปัจจัยจากเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้น แต่เป็นเพราะปัจจัยฝั่งสหรัฐฯ ที่อ่อนแอลง ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ซึ่งเงินบาทที่แข็งค่าเร็วกว่าสกุลอื่นในภูมิภาค ทำให้ดัชนีเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ในระยะสั้นคาดว่า เงินบาทยังมีโอกาสกลับมาอ่อนค่าได้ เนื่องจากสหรัฐฯ อาจกลับมาขึ้น Tariffs บางส่วน และเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอลงจนทำให้ กนง. ต้องลดดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ อีกทั้ง คาดว่าธนาคารกลางของประเทศเอเชียส่วนใหญ่จะปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่าเทียบต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจาก Tariffs ทั้งนี้ ในระยะยาวคาดว่า เงินบาทอาจแข็งค่าได้ เนื่องจากเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าจากความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ ลดลง ขณะที่สกุลเงินหลักอื่นแข็งค่าขึ้น อีกทั้ง ราคาทองที่สูงจะช่วยพยุงเงินบาทด้วย

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส สายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าเงินบาทช่วงที่ผ่านมาผันผวนแรง โดยในช่วงแรกที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีตอบโต้ เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าขึ้นใกล้เคียงระดับ 35.00 อย่างไรก็ดี หลังจากที่ทรัมป์ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีตอบโต้ออกไป 90 วัน ทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าเร็วใกล้เคียงระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะเห็นว่าเงินบาทที่แข็งค่าเร็วนี้เป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อเนื่อง เพราะตลาดมองว่าสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้า (Tariffs) มากกว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น จากการบริโภคและจ้างงานที่อาจแย่ลง ทำให้ความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐลดลง นอกจากนี้ ล่าสุดตลาดกังวลเรื่องการปลด Jarome Powell ออกจากตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งผลให้การเทขายสินทรัพย์สหรัฐฯ เร่งมากขึ้น ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ลดลง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) ปรับสูงขึ้น และดัชนีค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อ

เงินบาทอาจกลับไปอ่อนค่าได้ในระยะสั้น โดยมองกรอบที่ราว 33.50-34.50 ต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจาก 1) สหรัฐฯ อาจกลับมาขึ้น Tariffs บางส่วนหลังผ่านไป 90 วัน ทำให้เงินเอเชียรวมถึงบาทอาจอ่อนค่า และดัชนีเงินดอลลาร์อาจกลับมาแข็งค่าบ้าง 2) คาดว่าธนาคารกลางของประเทศเอเชียส่วนใหญ่จะปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่าเทียบต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากจะช่วยบรรเทา (cushion) ผลจาก Tariffs ได้บางส่วน โดยทางการจีนตั้งใจปล่อยเงินหยวนอ่อนค่า สะท้อนจาก CNY fixing ที่ปรับอ่อนค่าขึ้นเร็วใกล้ระดับ 7.20 ต่อดอลลาร์หลังวันประกาศ Reciprocal tariffs แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางธนาคารกลางจีน (PBOC) จะคงระดับ Fixing ที่ระดับราว 7.17-7.18 มาต่อเนื่องถึง 2 เดือน และ 3) เลขเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มแย่ลงจากผลของมาตรการ Tariffs โดยมองว่าดุลการค้าไทยจะปรับแย่ลง และความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นกระทบต่อการลงทุนและการผลิตที่อาจชะงักลง ทำให้ กนง. มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยอย่างเร็วอาจลดในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้เลย

ในระยะยาว เงินบาทอาจแข็งค่าได้ มองกรอบที่ราว 32.50-33.50 ต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้ โดยปัจจัยหลักน่าจะมาจากดัชนีเงินดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่า จากความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์สหรัฐฯ ที่ลดลง โดยในกรณี Baseline ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแอลงแต่ยังไม่ถึงขั้น Recession (เกิดการ unwind US Exceptionalism) ขณะที่เงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวไม่มากโดยอาจอยู่ระหว่าง 3-4% ทำให้ Fed อาจลดดอกเบี้ยในปีนี้ได้ 3 ครั้งนับตั้งแต่กลางปีนี้ ซึ่ง SCB FM มองว่าจะทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบต่อสกุลเงินอื่นรวมถึงเงินบาท และเงินทุนมีแนวโน้มไหลออกจากสหรัฐฯ ต่อเนื่อง โดยบางส่วนไหลเข้าตลาดหุ้นกลุ่มประเทศยุโรป และตลาดบอนด์ของ EM Asia นอกจากนี้ สกุลเงินหลักอื่นก็มีแนวโน้มแข็งค่าเทียบต่อดอลลาร์ เช่น เงินยูโร และเงินเยน โดยในส่วนของเงินยูโรนั้น มีแนวโน้มแข็งค่าต่อจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ส่วนเงินเยนมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องตามการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น และคาดว่าภาคเอกชน เช่น กลุ่มธุรกิจประกัน พร้อมโยกเงินทุนกลับเข้าตลาดบอนด์ในญี่ปุ่นด้วย สุดท้าย ราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องจากความต้องการถือสินทรัพย์ปลอดภัยจะช่วยดันให้บาทแข็ง โดยล่าสุดราคาทองคำทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับราว 3,500 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดย SCB FM มองว่า ในระยะต่อไปยังมีโอกาสปรับสูงขึ้นต่อ เนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินและบั่นทอนความเชื่อมั่นในสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยโดยเฉพาะทองคำเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังพบว่ามีกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่กองทุน ETF ที่มีทองคำหนุนหลังจึงช่วยหนุนราคาทองต่อ รวมถึงการซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องโดยธนาคารกลางของหลายประเทศ ซึ่งราคาทองที่สูงขึ้นจะสนับสนุนการแข็งค่าของเงินบาทเพิ่มเติมด้วย

ทั้งนี้ มองว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวต่างจากที่ประเมินได้ โดยอาจมาจากสงครามการค้า หรือการปลดนายเจอโรม พาวเวลล์จากตำแหน่งประธาน Fed โดยหากไทยยังไม่สามารถทำข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อให้ลดภาษีลงได้ภายใน ก.ค. อาจทำให้ความเชื่อมั่นลดลง ประกอบกับแนวโน้มปัจจัยในประเทศที่อาจอ่อนแอในช่วง H2 กดดันบาทอ่อนค่ากว่าคาดได้ โดยในกรณีนี้อาจเห็นบาทกลับไปอ่อนค่าที่กรอบ 35.00-36.00 ต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี หากทรัมป์ปลดนายเจอโรม พาวเวลล์จากตำแหน่ง อาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สูงขึ้นเร็ว (เกิด Bond yields spike) และดัชนีเงินดอลลาร์อ่อนค่าต่อ กดดันให้บาทแข็งค่าลงไปใกล้ระดับ 32.30 บาทต่อดอลลาร์ได้


 


บทความที่เกี่ยวข้อง
เดินทางอย่างไร้กังวล! FWD ประกันชีวิต แจกประกันอุบัติเหตุฟรี 30,000 สิทธิ์ ในช่วงวันหยุดเดือนพฤษภาคม!
ในช่วงวันหยุดเดือนพฤษภาคม 2568 ซึ่งได้แก่วันแรงงานแห่งชาติ (1 พฤษภาคม) วันฉัตรมงคล (4-6 พฤษภาคม) และวันวิสาขบูชา (10-12 พฤษภาคม)
30 เม.ย. 2025
ไอแบงก์ ลงนาม MOU สินเชื่อสวัสดิการแก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำ  สำนักงานศาลยุติธรรม กว่า 16,000 คน ทั่วประเทศ  เพื่อส่งต่อบริการทางการเงินที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โดย ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการธนาคาร และนายธีรทัย เจริญวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
30 เม.ย. 2025
ธ.ก.ส. จัดเต็ม! เสิร์ฟโปรโมชันพิเศษและสินค้าแกลมเกษตร ในงาน MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย
ธ.ก.ส. นำเสนอโปรโมชันพิเศษในงาน “MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย” ในโอกาสครบรอบ 150 ปีกระทรวงการคลัง
30 เม.ย. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy