แชร์

แม้ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนเริ่มมีสัญญาณผ่อนคลายบ้าง แต่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น

อัพเดทล่าสุด: 29 เม.ย. 2025
70 ผู้เข้าชม

มุมมองการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯแย่ลง ท่ามกลางนโยบายกีดกันทางการค้าที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ด้าน IMF คาดการณ์เศรษฐกิจภายใต้ข้อมูลจนถึงวันที่ 4 เมษายน (ซึ่งยังไม่รวมผลของการเลื่อน Reciprocal Tariff 90 วัน) สหรัฐฯจะขยายตัวเพียง 1.8% และ 1.7% ในปี 2568 และ 2569 (จากคาดการณ์เดิมที่ 2.7% และ 2.1% ตามลำดับ) จากความไม่แน่นอนด้านนโยบายเศรษฐกิจและการค้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงภาพรวมอุปสงค์ที่อ่อนแอลง ขณะที่ประธานาธิบดีให้สัมภาษณ์ว่าสหรัฐฯจะได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์ หากสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีสูงถึง 20-50% ต่อประเทศคู่ค้าภายในเวลา 1 ปีต่อจากนี้

ภายใต้ความเสี่ยงขาลง (Downside risk) ที่เพิ่มขึ้นจากความตึงเครียดทางการค้า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนจาก (i) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 (ii) อัตราการว่างงานที่สูงขึ้นและค่าจ้างที่โตช้าสุดในรอบ 8 เดือน และ (iii) ดัชนี PMI ภาคบริการที่ขยายตัวชะลอลง และภาคการผลิตที่ยังคงซบเซา แม้ว่าการลดอัตราภาษีศุลกากรและการบรรลุข้อตกลงทางการค้าอาจช่วยบรรเทาความเสี่ยงภาวะถดถอย (Recession) แต่คาดว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในปีนี้ ด้วยเหตุนี้ วิจัยกรุงศรีคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้สู่ระดับ 3.50-3.75% ในช่วงสิ้นปี เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจและผ่อนคลายความตึงตัวทางการเงินในระยะข้างหน้า

เศรษฐกิจของยูโรโซน และญี่ปุ่นส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจน คาดหนุนธนาคารกลางทั้งสองแห่งใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ภายใต้ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าที่สูงขึ้น IMF คาดการณ์เศรษฐกิจยูโรโซน ขยายตัว 0.8% และ 1.2% ในปี 2568 และ 2569 (จากเดิมที่ 1.0% และ 1.4% ตามลำดับ) ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นคาดว่าจะขยายตัว 0.6% ในปี 2568 และ 2569 (จากเดิมที่ 1.1% และ 0.8% ตามลำดับ) ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่รายงานออกมาต่ำกว่าคาดในระยะนี้

ภาพรวมเศรษฐกิจยูโรโซนยังอ่อนแอและส่งสัญญาณชะลอตัวมากขึ้น สะท้อนจาก (i) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลงแรงในเดือนเมษายนสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 (ii) ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (ZEW) ลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 และ (iii) ดัชนี PMI ภาคบริการกลับมาหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือน และภาคการผลิตที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้น ทั้งจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ รวมถึงแรงกดดันด้านราคาหลังอัตราเงินเฟ้อในกรุงโตเกียว (Tokyo CPI) ปรับเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 2 ปี ซึ่งอาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการลงทุนของภาคธุรกิจได้ในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ จากภาพการชะลอตัวที่เด่นชัดมากขึ้นของยูโรโซนและญี่ปุ่น วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับ 1.75% ณ สิ้นปี 2568 จากปัจจุบันที่ 2.25% ขณะที่ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีหลัง

จีนและสหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลายท่าทีต่อความขัดแย้งทางการค้า แต่การบรรลุข้อตกลงอาจไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว จากการคาดการณ์อ้างอิง (Reference Forecast) ของ IMF ประเมินว่า GDP จีนในปี 2568 จะเติบโต 4.0% จากเดิมคาด 4.6% ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรง แม้นายโดนัลด์ ทรัมป์กล่าวอ้างว่า จีนได้เริ่มพูดคุยกับสหรัฐฯ แต่จีนออกมาปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าว นอกจากนี้ จีนประกาศพร้อมตอบโต้ชาติอื่น หากทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ ในรูปแบบที่ส่งผลเสียต่อจีน อย่างไรก็ตาม จีนกำลังเริ่มพิจารณายกเว้นภาษีในอัตรา 125% กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บางรายการ เช่น เคมีภัณฑ์

ท่าทีของจีนและสหรัฐฯ ล่าสุด อาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของการผ่อนคลายความตึงเครียดทางการค้า แต่การเข้าสู่โต๊ะเจรจาและการบรรลุข้อตกลงทางการค้าเพื่อลดภาษีอย่างมีนัยสำคัญนั้น อาจไม่ได้เกิดขึ้นเร็วอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง วิจัยกรุงศรีประเมินว่า แม้ทั้งสองชาติอาจปรับลดภาษีศุลกากรระหว่างกันลงสู่ระดับราว 60% แต่ผลกระทบยังค่อนข้างมาก โดย GDP และการส่งออกจีนในระยะยาวจะลดลง -0.63% และ -5.71% ตามลำดับ ใกล้เคียงกับกรณีที่เก็บภาษีมากกว่า 100% ซึ่งคาดว่าจะกระทบ GDP -0.75% และการส่งออก -6.08% ตามลำดับ

เศรษฐกิจไทย

แม้การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสแรกเติบโตสูง แต่การปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้การส่งออกทั้งปีไม่เติบโต

มูลค่าส่งออกเดือนมีนาคมทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์และขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี ท่ามกลางแรงกดดันจากความไม่แน่นอนขอนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าส่งออกในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 29.5 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ที่ 17.8% YoY หากหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ มูลค่าส่งออกขยายตัว 15.1% โดยการส่งออกสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (+80.2%) แผงวงจรไฟฟ้า (+41.5 %) ยางพารา (+19.5%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (+19.1%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ  (+17.3%)  และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+5.6%) ขณะที่การส่งออกในบางกลุ่มหดตัว อาทิ น้ำตาลทราย (-27.7%) ข้าว (-23.4%) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-15.1%) ด้านตลาดส่งออกพบว่าขยายตัวในทุกตลาดหลัก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ และจีนที่โตสูง 34.3% และ  22.2% ตามลำดับ สำหรับในไตรมาสแรกของปี 2568 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 81.5 พันล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.2%  

มูลค่าส่งออกในเดือนมีนาคมที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อาจเป็นผลจากปัจจัยชั่วคราวจากการเร่งนำเข้าเพื่อรองรับความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดแม้มีการประกาศเลื่อนการบังคับใช้ภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariff) กับประเทศต่างๆ ออกไป 90 วัน แต่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าพื้นฐานที่ 10% และเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 145% ขณะที่จีนโต้กับด้วยการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯในอัตรา 125% สถานการณ์ดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

วิจัยกรุงศรีประเมินในกรณีเลวร้าย หากไทยต้องเผชิญกับอัตราภาษีนำเข้าตอบโต้ที่ 36% เกิน 6 เดือน หรือผลจากการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯพบว่าไทยเผชิญอัตราภาษีที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม (อัตราภาษีเดิมประกาศที่ 46%) จะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ในกรณีนี้การส่งออกโดยรวมในปี 2568 อาจไม่สามารถขยายตัวได้เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

IMF ประเมิน GDP ไทยปีนี้เติบโตต่ำสุดในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ด้านวิจัยกรุงศรีประเมินหากการส่งออกไม่โตในปีนี้ GDP ไทยอาจขยายตัวเพียง 1.5-1.8%  กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) รายงานประมาณการอ้างอิง (Reference forecast) ซึ่งยังไม่ใช่กรณีฐาน (Baseline) โดยคำนึงถึงมาตรการภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ ประกาศจนถึงวันที่ 4 เมษายน และการตอบโต้จากประเทศคู่ค้า สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทย IMF  คาดว่า GDP จะขยายตัวเพียง 1.8% ในปี 2568 และ 1.6% ในปี 2569 เทียบกับประมาณการเดิมที่ 2.9% และ 2.6% ตามลำดับ  ทั้งนี้ เป็นอัตราเติบโตต่ำกว่า 2% เพียงประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียน ขณะเดียวกัน IMF ชี้ว่า ASEAN จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากนโยบายภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ เนื่องจากมีความเชื่อมโยงทางการค้ากับจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการภาษีครั้งนี้

วิจัยกรุงศรีประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.7% โดยได้รับทั้งผลกระทบระยะสั้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวแล้ว และยังถูกซ้ำเติมจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ เบื้องต้นวิจัยกรุงศรีได้จัดทำประมาณการ GDP ของไทยในปี 2568 ภายใต้ 3 ฉากทัศน์ ได้แก่ (i) หากสหรัฐฯ คงอัตราภาษีนำเข้าพื้นฐานที่ 10% ตลอดทั้งปี  คาดว่า GDP ไทยจะขยายตัวที่ 2.22.4% (ii) หากสหรัฐฯ ใช้มาตรการภาษีตอบโต้ที่ 36% เป็นระยะเวลา 36 เดือน GDP อาจชะลอลงมาอยู่ที่ 1.92.1% และ (iii) หากมาตรการภาษีตอบโต้ดำเนินต่อเนื่องเกิน 6 เดือน หรือหากไทยคู่แข่งประสบความสำเร็จในการเจรจากับสหรัฐฯ จนทำให้อัตราภาษีนำเข้าต่ำกว่าไทย กรณีดังกล่าว GDP ไทยอาจขยายตัวเพียง 1.51.8% ในปีนี้  ทั้งนี้ การจัดทำฉากทัศน์ดังกล่าวสะท้อนความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลต่อภาคการส่งออก การลงทุน และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจไทยตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้


บทความที่เกี่ยวข้อง
เดินทางอย่างไร้กังวล! FWD ประกันชีวิต แจกประกันอุบัติเหตุฟรี 30,000 สิทธิ์ ในช่วงวันหยุดเดือนพฤษภาคม!
ในช่วงวันหยุดเดือนพฤษภาคม 2568 ซึ่งได้แก่วันแรงงานแห่งชาติ (1 พฤษภาคม) วันฉัตรมงคล (4-6 พฤษภาคม) และวันวิสาขบูชา (10-12 พฤษภาคม)
30 เม.ย. 2025
ไอแบงก์ ลงนาม MOU สินเชื่อสวัสดิการแก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำ  สำนักงานศาลยุติธรรม กว่า 16,000 คน ทั่วประเทศ  เพื่อส่งต่อบริการทางการเงินที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โดย ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการธนาคาร และนายธีรทัย เจริญวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
30 เม.ย. 2025
ธ.ก.ส. จัดเต็ม! เสิร์ฟโปรโมชันพิเศษและสินค้าแกลมเกษตร ในงาน MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย
ธ.ก.ส. นำเสนอโปรโมชันพิเศษในงาน “MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย” ในโอกาสครบรอบ 150 ปีกระทรวงการคลัง
30 เม.ย. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy