แชร์

สหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงการค้าชั่วคราวเป็นเวลา 90 วัน แต่ผลกระทบจากนโยบายภาษีต่อเศรษฐกิจคาดว่าจะปรากฎเด่นชัดขึ้นในระยะถัดไป

อัพเดทล่าสุด: 14 พ.ค. 2025
42 ผู้เข้าชม

สหรัฐและจีนลดภาษีศุลกากรลงชั่วคราว คาดเฟดยังรอความชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.25-4.50% ตามคาด โดยส่งสัญญาณไม่รีบลดดอกเบี้ยและยังคงเน้นย้ำว่าเศรษฐกิจและตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ในปัจจุบันยังคงอยู่ในจุดที่แข็งแกร่ง ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์คาดว่าจะเป็นตัวผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะข้างหน้า

ล่าสุดสหรัฐฯและจีนได้บรรลุข้อตกลงการค้าชั่วคราว โดยทั้งสองฝ่ายตกลงลดภาษีศุลกากรฝ่ายละ 115% เป็นเวลา 90 วัน ส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บจากจีนลดลงจาก 145% เหลือ 30% และจีนลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ จาก 125% เหลือ 10% แม้สถานการณ์ดังกล่าวจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงต่อภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจและภาวะ Stagflation แต่อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่มีการใช้กำแพงภาษีในวงกว้าง โดยมีอัตราขั้นต่ำที่ 10% สำหรับทุกประเทศ คาดว่าผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯและโลกโดยรวมจะทยอยปรากฏชัดเจนขึ้นในระยะถัดไป ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ วิจัยกรุงศรีคาดว่าเฟดจะยังคงยึดแนวทาง wait-and-see เพื่อรอประเมินผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ต่อทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯ ก่อนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม

เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงเปราะบาง ท่ามกลางแรงกดดันจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ คาดหนุน ECB เดินหน้าลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง ในเดือนเมษายน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวอยู่ที่ 2.2% YoY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ 2.4% ในเดือนมีนาคม สู่ระดับ 2.7% ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ยังคงสะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจที่ซบเซา โดยภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัวที่ระดับ 49 ขณะที่ภาคบริการลดลงสู่ระดับ 50.1 จากเดือนก่อนหน้าที่ 51

ความตึงเครียดทางการค้าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยูโรโซนชัดเจนขึ้น ล่าสุดสหรัฐฯ กำลังพิจารณาเรียกเก็บภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU) ในกลุ่มไม้แปรรูป ยา เซมิคอนดักเตอร์ แร่ธาตุสำคัญ และรถบรรทุก ซึ่งจะครอบคลุมสินค้าของ EU เพิ่มอีกมูลค่า 1.7 แสนล้านยูโร คิดเป็น 97% ของมูลค่าการส่งออกจาก EU ไปยังสหรัฐฯ แม้ว่า EU จะอยู่ระหว่างการจัดเตรียมข้อเสนอเพื่อเจรจากับสหรัฐฯ แต่ก็ได้ประกาศความพร้อมในการดำเนินมาตรการตอบโต้โดยการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มเติม (มูลค่าประมาณ 1 แสนล้านยูโร) หากการเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ จากภาพการชะลอตัวที่เด่นชัดมากขึ้นของยูโรโซน วิจัยกรุงศรีประเมินว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ระดับ 1.50%ณ สิ้นปี 2568 จากปัจจุบันที่ 2.25%

จีนออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่ คาดทางการยังมีกระสุนด้านนโยบายอยู่มากเพื่อรับมือกับสงครามการค้า จีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนระยะ7 วัน (reverse repurchase rate) ลง 0.1% มีผลบังคับใช้วันที่ 8 พฤษภาคม รวมถึงลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมายลง 0.5% มีผลบังคับใช้วันที่ 15 พฤษภาคม โดยคาดว่าจะอัดฉีดเงินให้กับเศรษฐกิจได้ 1 ล้านล้านหยวน นอกจากนี้ รัฐบาลกำลังพิจารณามาตรการจำกัดการขายบ้านล่วงหน้าที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ

จีนพยายามเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบการเงิน ท่ามกลางแรงกดดันจากสงครามการค้า ล่าสุดการส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐฯ ลดลงถึง 21% YoY ในเดือนเมษายน แม้ตัวเลขส่งออกอาจเริ่มดีขึ้นหลังจากทั้งสองประเทศลดภาษีนำเข้าระหว่างกันชั่วคราว แต่การเจรจาที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและภาษีนำเข้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าเดิม ย่อมจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ คาดว่าจีนยังมีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการคลังค่อนข้างมาก กล่าวคือ หากรัฐบาลกระตุ้นการเติบโตของยอดค้าปลีกสินค้าจาก3.5% ในปี 2567 ให้แตะระดับ 5.5-7% จะช่วยชดเชยผลกระทบต่อการส่งออกได้ถึง26-45% ของมูลค่าการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ทั้งหมด ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมผลบวกจากการส่งออกไปยังตลาดอื่น ซึ่งล่าสุดการส่งออกจากจีนไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้นถึง 20.8% ในเดือนเมษายน

เศรษฐกิจไทย

แรงขับเคลื่อนจากภาคท่องเที่ยวอ่อนแอลง ขณะที่อัตรางินเฟ้อมีแนวโน้มต่ำกว่ากรอบเป้าหมายต่อเนื่องในช่วงไตรมาสสอง

การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวมีสัญญาณอ่อนแอลง อาจช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ได้จำกัด ในเดือนเมษายน มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทย 2,547,116คน ลดลง -7.6 % YoY นำโดยนักท่องเที่ยวมาเลเซีย (362,636 คน)  จีน  (317,213)อินเดีย (206,286) รัสเซีย (155,314) และ สหราชอาณาจักร (110,231) สำหรับในช่วง 4เดือนแรกของปี 2568 จำนวนนักท่องเที่ยวชาติทั้งหมด 12,096,120 คน ลดลง 0.3% YoY

แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยอ่อนแอลง โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างจีนที่ลดลงอย่างหนัก ท่ามกลางปัจจัยสำคัญที่กดดันการฟื้นตัว ได้แก่ ความกังวลด้านความปลอดภัย ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากตลาดเอเชีย เช่น จีน ที่มีความอ่อนไหวต่อประเด็นนี้ ล่าสุดในช่วง 4 เดือนแรกของปี จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลง 29.9% YoY สู่ระดับ  1.65 ล้านคน และในช่วงเดือนเมษายน จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงมากถึง 46.7% YoY นอกจากนี้ ประเทศคู่แข่งในภูมิภาคโดยเฉพาะเวียดนาม กัมพูชา และญี่ปุ่น ต่างเร่งพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวและใช้จุดแข็งทั้งด้านราคา ความแปลกใหม่ และค่าเงินที่เอื้อต่อการท่องเที่ยวมาดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีงบประมาณจำกัดซึ่งเคยเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของไทย ส่งผลให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มหันไปยังจุดหมายปลายทางอื่นแทน โดยในช่วงไตรมาสแรก ญี่ปุ่นมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมเพิ่มขึ้นถึง 23.1% YoY สู่ระดับ 10.5 ล้านคน (เทียบกับไทยที่ 9.55 ล้านคน) โดยนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง 78% (สูงกว่าช่วงก่อนโควิด 9%) สู่ระดับ 2.36 ล้านคน เที่ยบกับที่เดินทางมาไทย    เพียง 1.33 ล้านคน (-24.2%) ในช่วงเวลาเดียวกัน 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสสองของปีนี้มีแนวโน้มติดลบ  หลังจากเดือนเมษายนกลับเข้าสู่แดนลบเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือนมีนาคม2567 โดยอยู่ที่ -0.22% YoY เทียบกับ 0.84% ในเดือนก่อน สาเหตุหลักจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับราคาสินค้าอาหารบางชนิดปรับลดลง อาทิ ผักสด และไข่ไก่  ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสด และพลังงาน) เดือนเมษายนอยู่ที่ 0.98% เพิ่มขึ้นจาก 0.86% ในเดือนก่อน สำหรับในช่วง 4เดือนแรกของปี 2568 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ยอยู่ที่ 0.75%และ 0.91% ตามลำดับ

วิจัยกรุงศรีประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสสองของปีนี้มีแนวโน้มที่อาจกลับมาติดลบ หลังจากที่เงินเฟ้อเฉลี่ยในไตรมาสแรกอยู่ที่ 1.08% YoY ใกล้ขอบล่างของกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ทั้งนี้ เป็นผลจาก (i) ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ลดลงสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบโลกในปีนี้ที่มีแนวโน้มต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก (ii) มาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านราคาพลังงาน อาทิ การปรับลดราคาค่าไฟฟ้าในงวดพฤษภาคม-สิงหาคม และการตรึงราคาก๊าซหุ้งต้ม และ (iii) สภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากกว่าปีก่อนทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิดเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ช่วยลดแรงกดดันด้านราคาในหมวดอาหารสด ทั้งนี้ จากภาพรวมของอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำอาจช่วยเปิดทางให้มีการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวในจังหวะที่ความเสี่ยงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


บทความที่เกี่ยวข้อง
เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ สนับสนุนงาน “เขาค้อ มาราธอน” ปีที่ 6 พร้อมมอบสิทธิพิเศษสำหรับนักวิ่งที่เข้าร่วมงาน
เจนเนอราลี่ ไทยแลนด์ ผู้สนับสนุนหลักการจัดงาน “เจนเนอราลี่ พรีเซ้นต์ เขาค้อ มาราธอน 2025” (Generali Presents Khaokho Marathon 2025)
14 พ.ค. 2025
ธ.ก.ส. ร่วมกับ ส.ป.ก. และ กยท. สนับสนุนเกษตรกรแปลงต้นไม้มีค่าและเข้าถึง แหล่งเงินทุน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมงาน “Kick Off มอบโฉนดต้นไม้และโฉนดต้นยางพารา”
14 พ.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy