แชร์

ส่งออกเดือน เม.ย. 2568 ขยายตัว 10.2%YoY คาดการกลับมาขึ้น Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯจะกดดันส่งออกไทยในช่วง 2H68

อัพเดทล่าสุด: 27 พ.ค. 2025
114 ผู้เข้าชม

Key Highlights :

มูลค่าส่งออกเดือน เม.ย. เติบโต 10.2%YoY ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่ 17.8%YoY โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สวนทางกับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ขณะที่การส่งออกไปตลาดหลักต่างขยายตัว ด้านการนำเข้าเร่งตัวสูงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 16.1%YoYทำให้ดุลการค้ากลับมาขาดดุลที่ -3,321.3 ล้านดอลลาร์ฯแม้การส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 โดยในช่วง 4เดือนแรกของปี 68 เติบโต 14.0%YoY แต่การส่งออกไทยช่วง 2H68 ที่ระยะพักการขึ้น Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ หมดลง ผลกระทบต่อไทยจะชัดขึ้น ทั้งผลทางตรงจากอัตราภาษี ซึ่งยังมีความเสี่ยงที่จะสูงกว่า Universal Tariff 10% ผลจากส่วนต่างภาษี หากไทยถูกเก็บในอัตราสูงกว่าประเทศส่งออกอื่น และผลทางอ้อมจากการค้าโลกที่แย่ลง เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อ่อนแรง รวมถึงการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน

มูลค่าส่งออกเดือนเมษายน 2568 ขยายตัว 10.2%YoY

มูลค่าส่งออกเดือน เม.ย. อยู่ที่ 25,625.1 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัว 10.2%YoY ชะลอลงจาก 17.8%YoY เมื่อเดือนก่อน โดยการส่งออกสินค้าทั้งกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเติบโตต่อเนื่อง สวนทางกับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร สำหรับการส่งออกทองคำในเดือนนี้ขยายตัวสูงที่ 250.5%YoY ทำให้เมื่อหักทองคำแล้วมูลค่าส่งออกเดือนนี้เติบโตที่ 7.2%YoY ทั้งนี้การส่งออกสี่เดือนแรกของปี 2568 ขยายตัว 14.0%YoY โดยมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญจาก

  การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเติบโต 16.6%YoY ชะลอตัวจาก 23.5%YoY ในเดือนก่อน โดยสินค้าสำคัญที่เติบโต ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+75.1%) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) (+42.1%) แผงวงจรไฟฟ้า (+39.0%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+15.9%) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (-33.1%) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (-7.6%) ที่กลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวในเดือนก่อนหน้า เป็นต้น

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว -8.4%YoY ติดลบต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ -3.1%YoY โดยสินค้าเกษตรหดตัว -19.6%YoY หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ -0.5%YoY และต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรกลับมาขยายตัว 9.1%YoY สวนทางกับเดือนก่อนที่หดตัว -5.7%YoYโดยสินค้าสำคัญที่หดตัวสูงในเดือนนี้ ได้แก่ ข้าว (-44.1%) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง (-38.5%) และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-5.8%) เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำตาลทราย (+36.0%) ยางพารา (+22.5%) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ (+24.6%) ผลไม้กระป๋อง และแปรรูป (+21.9%) และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ (+17.1%) เป็นต้น 

การส่งออกรายตลาดสำคัญ ส่วนใหญ่ยังขยายตัวจากการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นสำคัญ

สหรัฐฯ: ขยายตัว 23.8%YoYเติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 19 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น   ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง

จีน: ขยายตัว 3.2%YoY เติบโตต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 7 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น              เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง เป็นต้น

ญี่ปุ่น: ขยายตัว 5.5%YoYเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ยางพารา และ  อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

EU27: ขยายตัว 6.1%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 11 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น  

ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น
ASEAN-5: ขยายตัว 7.8%YoY เติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น อัญมณี   และเครื่องประดับ น้ำตาลทราย เป็นต้น ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

มูลค่าการนำเข้าเดือน เม.ย. อยู่ที่ 28,946.4 ล้านดอลลาร์ฯ เติบโต 16.1%YoY เร่งขึ้นจาก 10.2%YoY เมื่อเดือนก่อน การนำเข้าสินค้าหลายหมวดขยายตัว ทั้งสินค้าทุน (+27.5%YoY) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (+17.4%YoY) สินค้าอุปโภคบริโภค (+11.9%YoY) และสินค้าเชื้อเพลิง (+1.7%YoY) ขณะที่การนำเข้าสินค้ายานพาหนะฯ หดตัว (-0.6%YoY) ทั้งนี้ ดุลการค้าเดือน เม.ย. ขาดดุล -3,321.3 ล้านดอลลาร์ฯ 

Implication:

แม้การส่งออกเดือน เม.ย. 68 จะขยายตัว หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่เริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลง สะท้อนปัจจัยบวกจากการเร่งนำเข้าเริ่มแผ่วลง โดยมูลค่าการส่งออกที่ขยายตัว 10.2%YoY ในเดือนนี้ ถือเป็นการเติบโตที่ช้าลงเป็นครั้งแรกใน 5 เดือน และหากเทียบมูลค่ารายเดือนแล้วจะหดตัว 13.3%MoM ติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 68 บ่งชี้ถึงการเร่งนำเข้าของประเทศคู่ค้าก่อนหมดระยะพักการขึ้น Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ อ่อนแรงลงตัวเลขล่าสุดเริ่มสะท้อนว่าการเร่งส่งออกของชาติเอเชียเริ่มมีสัญญาณลบ โดยตัวเลขส่งออกของเกาหลีใต้ 20 วันแรก ในเดือน พ.ค. 68 หดตัว
-2.4%YoY ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมในภูมิภาคเอเชียหดตัวชัดเจน สะท้อนจาก Manu-facturing PMI เดือน เม.ย.68 ที่อ่อนแรง โดยส่วนใหญ่หดตัวลง 
จับตาผลการเจรจาการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งมีผลสำคัญต่อการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า ล่าสุดในเดือน พ.ค. จีนและสหรัฐฯ ได้เจรจาทางการค้า   และบรรลุเงื่อนไขที่สหรัฐฯ ลดภาษีศุลกากรตอบโต้กับจีนลงเหลือ 30% จาก 145% เป็นเวลา 90 วัน (สิ้นสุดเดือน ส.ค. 68) ขณะที่ไทยเฝ้ารอเข้าเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งหากไทยเจรจาประสบผลสำเร็จและอัตราภาษีใหม่ต่ำกว่า 36%  จะช่วยลดความเสี่ยงที่สินค้าจีนจะแทนที่การส่งออกไทย เนื่องจากอัตราภาษีที่จีนถูกเก็บในตอนนี้    ต่ำกว่าที่ไทยจะถูกเก็บในเดือน ก.ค.68
Krungthai COMPASS คาดการส่งออกไทยช่วง 2H68 ที่ระยะพักการขึ้น Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ หมดลง ผลกระทบต่อไทยจะชัดขึ้น ทั้งผลทางตรงจากอัตราภาษี ซึ่งยังมีความเสี่ยงที่จะสูงกว่า Universal Tariff10% ผลจากส่วนต่างภาษี หากไทยถูกเก็บในอัตราสูงกว่าประเทศส่งออกอื่น และผลทางอ้อมจากการค้าโลกที่แย่ลง เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอ่อนแรง รวมถึงการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน


บทความที่เกี่ยวข้อง
ทิพยประกันภัย ผนึกกำลัง FIT Auto และอะมิตี้ เปิดตัว “FIT KUB TIP คุ้มทุกคัน ประกันทุกยาง” ยกระดับประกันภัยรถยนต์ One Stop Service
คุณสุภาพ ประดับการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) คุณรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจหล่อลื่น
20 ก.ค. 2025
ฮีโน่คว้ารางวัล Marketeer No.1 Brand Thailand 2025 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน  ตอกย้ำความเชื่อมั่นผู้บริโภค พร้อมส่งมอบคุณภาพและการบริการ ของรถบรรทุกมืออาชีพ
บริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับรางวัล “Marketeer No.1 Brand Thailand 2025” ในกลุ่มรถบรรทุกเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน
20 ก.ค. 2025
บสย. ร่วมแสดงความยินดี ครบรอบ 10 ปี กองทุนการออมแห่งชาติ   ตอกย้ำความร่วมมือช่วย SMEs รายย่อย อาชีพอิสระ  
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และนายกิตติพงษ์ บุรณศิริ รองผู้จัดการทั่วไป
19 ก.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy