แชร์

คืบหน้าล่าสุด! คดีนายหน้าประกันภัยหลอกเก็บเบี้ยประกันภัย แต่ไม่จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยภาคบังคับ ให้แก่กลุ่มนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมกว่า 57 ราย

อัพเดทล่าสุด: 14 ก.ค. 2025
76 ผู้เข้าชม

สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2568 เวลา 16.00 น. มีนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวนกว่า 50 คน รวมตัวกัน ณ บริเวณสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวได้รับความเสียหายจากกรณีที่นายบัณฑิต จำปาแขม (นายบัณฑิตฯ) นายหน้าประกันวินาศภัย ได้ตั้งโต๊ะรับทำกรมธรรม์ประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และต่ออายุภาษีรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ภายในบริเวณสถานีบริการน้ำมันดังกล่าว ต่อมา เมื่อกลุ่มนักศึกษาได้ชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัย นายบัณฑิตฯ ได้ออกใบเสร็จรับเงินชั่วคราวให้แก่ผู้ขอเอาประกันภัยในนามบริษัท ศรีกรุงโบรกเกอร์ จำกัด แต่ไม่นำเงิน ค่าเบี้ยประกันภัยส่งให้แก่บริษัทประกันภัย รวมทั้งไม่ดำเนินการต่ออายุภาษีรถประจำปีให้แก่กลุ่มนักศึกษาแต่อย่างใด

ภายหลังได้รับรายงาน นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย มิได้นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ฯ ดังกล่าว จึงได้มีบัญชาให้นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ รองเลขาธิการด้านกฎหมายและตรวจสอบ นางสาววสุมดี วสีนนท์ รองเลขาธิการ ด้านกำกับคนกลางและประกันภัยภูมิภาค นายจอม จีระแพทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี และนางสาววิไลรัตน์ แสงแก้ว ผู้ช่วยเลขาธิการ สายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิด ต่อมา เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2568 สำนักงาน คปภ. จังหวัดขอนแก่น จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัย รับข้อร้องเรียน รวมถึงให้คำแนะนำแก่ผู้เสียหายในการแจ้งความร้องทุกข์นายบัณฑิตฯ ในความผิดฐานฉ้อโกงและความผิดตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น โดยมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์นายบัณฑิตฯ ต่อพนักงานสอบสวน จำนวน 57 ราย นอกจากนี้ บริษัท ศรีกรุงโบรกเกอร์ จำกัด ได้เยียวยาความเสียหายโดยการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยภาคบังคับให้แก่ผู้เสียหายทั้ง 57 ราย

ในวันเดียวกันนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงาน คปภ. จังหวัดขอนแก่น ได้แจ้งข้อกล่าวหากับนายบัณฑิตฯ ว่า การที่ นายบัณฑิตฯ รับชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัย แต่มิได้แจ้งขอเอาประกันภัย และมิได้นำส่งเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทประกันภัย อันมีผลทำให้ผู้ขอเอาประกันภัยมิได้รับความคุ้มครอง การกระทำของนายบัณฑิตฯ ดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการดำเนินงานที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือประชาชน อันเป็นความผิดตามมาตรา 76/1 (6) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นอกจากนี้ การกระทำดังกล่าวของนายบัณฑิตฯ ถือได้ว่ามีเจตนาทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการชักชวน ชี้ช่อง หรือจัดการให้ผู้อื่นนั้นทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท แต่ไม่ดำเนินการให้มีการทำสัญญาประกันภัยเกิดขึ้น และโดยการหลอกลวงดังกล่าวของนายบัณฑิตฯ ทำให้ได้ไป ซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามการกระทำของนายบัณฑิตฯ จึงเข้าข่ายเป็นความผิดฉ้อฉลประกันภัยตามมาตรา 108/3 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 อีกกรณีหนึ่ง ซึ่งนายบัณฑิตฯ รับทราบตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาแล้ว และไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดนำมาแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อโต้แย้งแก้ข้อกล่าวหาข้างต้นอีก เลขาธิการ คปภ. ในฐานะนายทะเบียน จึงมีคำสั่งที่ 27/2568 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 เพิกถอนใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันวินาศภัยของนายบัณฑิตฯ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 76/1 (6)

แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ นายบัณฑิตฯ ไม่สามารถกระทำการและไม่อาจยื่นขอรับใบอนุญาตเป็นตัวแทน/นายหน้าประกันชีวิตและวินาศภัยได้ เป็นระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2568 สำหรับความผิดฐานฉ้อฉลประกันภัย ตามมาตรา 108/3 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ ประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

สำหรับประเด็นปัญหาคนกลางประกันภัยทุจริตเงินค่าเบี้ยประกันภัยนั้น สำนักงาน คปภ. ร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน และสมาคมนายหน้าประกันภัยไทย ได้วางแนวทางการดำเนินการและแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างให้บริษัทประกันภัยกำหนดแนวนโยบายให้การรับชำระเบี้ยประกันภัยจะต้องโอนเข้าบัญชีของบริษัทประกันภัยโดยตรงเท่านั้น หากตัวแทนประกันภัยหรือนายหน้าประกันภัยบุคคลธรรมดา รับชำระค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินสดจากผู้ขอเอาประกันภัย บริษัทประกันภัยจะต้องมีระบบในการตรวจสอบการรับชำระเงินของตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัย โดยให้นำส่งบริษัทประกันภัยภายใน 24 ชั่วโมง หากมีการฝ่าฝืนไม่นำส่งเงิน ภายในระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าว ให้บริษัทประกันภัยยกเลิกสัญญาแต่งตั้งตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัย บุคคลธรรมดา และนำข้อมูลดังกล่าวส่งให้สำนักงาน คปภ. เพื่อบันทึกในระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับการฉ้อฉลประกันภัย หรืออาจจะฉ้อฉลประกันภัยของตัวแทนประกันภัยและนายหน้าประกันภัยต่อไป


บทความที่เกี่ยวข้อง
ประธานกรรมการ จับมือ CEO นำทีม กรรมการและผู้บริหาร BAM ลงพื้นที่เยี่ยมชม สนง.ขอนแก่น  ร่วมปลุกพลังเสริมแกร่งธุรกิจด้วยแนวทาง “Resilience with Transformation”
วันที่ 11-13 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา คุณทองอุไร ลิ้มปิติ ประธานกรรมการ คุณวสันต์ เทียนหอม กรรมการ คุณยศ กิมสวัสดิ์ กรรมการ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
15 ก.ค. 2025
สำนักงาน คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัย ร่วมประชุม “OIC Meets CEO 2025” ครั้งที่ 2/2568  ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประกันภัยไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) จัดการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย “OIC Meets CEO 2025”
15 ก.ค. 2025
ไอแบงก์เข้าร่วมงาน "ให้" ให้ด้วยใจ รับด้วยกัน 2025
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โดยนายธีระ ยีโกบ ผู้ช่วยกรรมการและผู้จัดการธนาคาร ผู้บริหารกลุ่มงานธุรกิจสาขา เข้าร่วมพิธีเปิดงาน "ให้" ให้ด้วยใจ รับด้วยกัน 2025
15 ก.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy