แชร์

ความเสี่ยงจากนโยบายการค้าสูงขึ้นอีกครั้งหลังทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศคู่ค้าสูงถึง 20-50% ขณะที่ภาวะอุปทานส่วนเกินกดดันเศรษฐกิจจีนต่อเนื่อง

อัพเดทล่าสุด: 15 ก.ค. 2025
61 ผู้เข้าชม

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวชัดเจนขึ้นใน 2H68 คาดหนุนเฟดปรับลดดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในปีนี้ ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐฯ ลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 227,000 รายในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 กรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม รายงานจาก ADP ระบุว่า ธุรกิจเอกชนลดการจ้างงานลงในเดือนมิถุนายน ซึ่งลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 สะท้อนภาพตลาดแรงงานที่เผชิญความไม่แน่นอน

ความตึงเครียดทางการค้าสูงขึ้นหลังประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากกว่า 27 ประเทศ ในอัตรา 2050% รวมถึงการปรับขึ้นภาษีนำเข้าทองแดงที่ 50% โดยจะมีผลในวันที่ 1 สิงหาคม นอกจากนี้ ยังมีแผนขึ้นภาษีนำเข้ายาในอัตราสูงถึง 200% ซึ่งอาจซ้ำเติมห่วงโซ่อุปทานและค่าครองชีพของผู้บริโภค ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีนี้ท่ามกลางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากแรงกดดันด้านการค้า นโยบายจำกัดผู้อพยพ สภาพการเงินที่ตึงตัว และหนี้เอกชนที่สูง จากปัจจัยดังกล่าว วิจัยกรุงศรีคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2-3 ครั้ง ในปีนี้

คาด BOJ คงอัตราดอกเบี้ยจนถึงสิ้นปีภายใต้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่สูงขึ้นและเงินเฟ้อที่มีทิศทางชะลอตัว ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รายงานว่า ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นปรับลดราคารถยนต์ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายนลงถึง 19.4% YoY ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากสุดนับตั้งแต่ปี 2559 สะท้อนว่าบริษัทญี่ปุ่นยอมลดกำไรเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน หลังสหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากญี่ปุ่น 25% ตั้งแต่เดือนเมษายน

อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นมีแนวโน้มผ่อนคลายลงในครึ่งหลังของปีจากแรงหนุนของมาตรการภาครัฐ เช่น การระบายข้าวในสต็อกและเงินอุดหนุนพลังงาน อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงภายนอกประเทศยังคงสูง โดยเฉพาะประเด็นความตึงเครียดทางการค้ากับสหรัฐฯ หลังประธานาธิบดีทรัมป์ขู่ว่าจะเก็บภาษีนำเข้า 25% กับสินค้าเกษตรและยานยนต์จากญี่ปุ่นหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าภายในวันที่ 1 สิงหาคม ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวรวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลง วิจัยกรุงศรีคาดว่า BOJ จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมในระยะนี้ เพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไปจนถึงสิ้นปี 2568 นี้

จีนเผชิญแรงกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกินอย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายนยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% YoY นานติดต่อกัน 28 เดือน ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตหดตัวแรงขึ้นจาก -3.3% เป็น -3.6% แรงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 สอดคล้องกับกำไรภาคอุตสาหกรรมซึ่งหดตัว -9.1% ในเดือนพฤษภาคมและ -1.1% ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ในระดับต่ำและดัชนีราคาผู้ผลิตที่ลดลงต่อเนื่อง สะท้อนถึงปัญหาอุปทานส่วนเกินในภาคการผลิตและภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งยังคงฉุดรั้งภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวม แม้รัฐบาลพยายามกระตุ้นอุปสงค์ผ่านมาตรการอุดหนุนการแลกซื้อสินค้าใหม่ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา วิจัยกรุงศรีประเมินว่าภาวะอุปทานส่วนเกินของจีนยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน และอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่ระดับอุปทานส่วนเกินจะไม่ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ หากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ กลับมารุนแรงขึ้นอีกครั้ง ภาคการส่งออกอาจขยายตัวชะลอลง ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาในภาคการผลิตที่กำลังพึ่งพาอุปสงค์ต่างประเทศมากขึ้นในจังหวะที่อุปสงค์ในประเทศยังอ่อนแอ

เศรษฐกิจไทย

การส่งออกของไทยเผชิญความเสี่ยงถูกสหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 36% หากการเจรจาไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ทันวันที่ 1 สิงหาคมนี้

วิจัยกรุงศรีประเมินกรณีเลวร้ายหากสหรัฐฯเก็บภาษีนำเข้ากับไทยในอัตรา 36% มูลค่าการส่งออกจะหายไปกว่า 1.62 แสนล้านบาท และหากยกเว้นภาษีนำเข้าแก่สหรัฐฯ ไทยอาจเสี่ยงเกิดภาวะ Twin Influx ในวันที่ 7 กรกฏาคม ไทยได้รับจดหมายจากสหรัฐฯ แจ้งเตรียมเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตราสูงถึง 36% โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้  หากไม่มีข้อตกลงทางการค้าใหม่เกิดขึ้น ล่าสุดรัฐบาลไทยได้ยื่นข้อเสนอทางการค้าปรับปรุงเพิ่มเติม (ดังตาราง) หลังการเจรจารอบแรกไม่ประสบความความสำเร็จ รวมถึงเร่งขอเจรจาเพื่อต่อรองให้ได้อัตราภาษีที่ลดลงต่ำกว่า 36%

หากสินค้าส่งออกของไทยต้องถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 36% ซึ่งนับเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงในบรรดาประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ และสูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งสามารถเจรจาลดอัตราภาษีเหลือ 20% (และ 40% สำหรับสินค้าที่ต้องสงสัยว่าถูกส่งผ่าน)  ในกรณีเลวร้ายนี้วิจัยกรุงศรีประเมินว่ามูลค่าการส่งออกของไทยจะหายไปถึง 1.621 แสนล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ  กลุ่มสิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า อาหารและเครื่องดื่ม ยางและพลาสติก

ส่วนกรณีหากไทยและสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงทางการค้าที่มีลักษณะคล้ายกับข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนาม โดยที่สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 20% ขณะที่ไทยยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็น 0% ผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอาจรุนแรงน้อยกว่ากรณีที่มีการเรียกเก็บภาษีที่ 36% ถึง 9.3 เท่า หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออกที่หายไป 0.174 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม การยกเว้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ดังกล่าวอาจเป็นการแก้ปัญหาหนึ่งแต่จะสร้างอีกปัญหาตามมา โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก จากแบบจำลองพบว่าในระยะยาวการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ อาจเพิ่มขึ้นถึง 27% หรือประมาณ 1.883 แสนล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหว อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตร และอาหารและเครื่องดื่ม อาจเผชิญกับการหลั่งไหลเข้าของสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตรากว่า 100% ขณะที่กลุ่มสินค้าอื่น ๆ เช่น ยานยนต์และอุปกรณ์ขนส่ง สิ่งทอ เครื่องหนังและรองเท้า ยางและพลาสติก ก็อาจมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในระดับเลขสองหลักเช่นกัน

การเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐฯมากขึ้นเพื่อแลกกับการลดภาษีอาจนำไปสู่ภาวะ "Twin Influx" หรือ การไหลทะลักเข้าของสินค้าจากสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการไหลทะลักของสินค้าจีนเข้าสู่ไทย ในท้ายที่สุด ภาวะ "Twin Influx" อาจบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขัน และส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมที่มีการจ้างงานถึง 28.6% ของกำลังแรงงาน (ปี 2567) ทั้งนี้ ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่รุนแรงขึ้น ประเทศไทยอาจมีทางเลือกตอบโต้ที่จำกัด ดังนั้น จึงควรเร่งขยายตลาดและเจรจาการค้ากับประเทศอื่นๆมากขึ้น และหันมาแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาวอย่างจริงจัง เพื่อลดแรงกดดันจากนโยบายการค้าของประเทศแกนหลัก


บทความที่เกี่ยวข้อง
โก โฮลเซลล์ ผนึกกำลัง MLA  ยกระดับพนักงานแผนกเนื้อสัตว์ สู่มาตรฐานระดับสากล
โก โฮลเซลล์ (GO WHOLESALE) ศูนย์ค้าส่งวัตถุดิบอาหาร ที่มีความสดใหม่ตลอดเวลาเพื่อผู้ประกอบการ ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด โฮลเซลล์ จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล
16 ก.ค. 2025
วิริยะประกันภัย ปิดฉากกอล์ฟทัวร์นาเมนต์ 2025  ส่งท้ายแมตช์เชื่อมสัมพันธ์คู่ค้าโซนภาคใต้
นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันกอล์ฟ “Viriyah Invitational Golf Tournament 2025”
16 ก.ค. 2025
เคทีซีผนึกไทวัสดุ และบีเอ็นบี โฮม กระตุ้นใช้จ่ายหมวดวัสดุก่อสร้าง  เสนอทางเลือกฟื้นฟูบ้านโดยไม่กระทบสภาพคล่อง
เคทีซีผนึกไทวัสดุและบีเอ็นบี โฮม ผู้นำธุรกิจค้าปลีกวัสดุก่อสร้างและของตกแต่งบ้าน เดินหน้าเชื่อมต่อคนรักบ้านกับการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า ผ่านแคมเปญ เคทีซีเคียงข้างทุกการฟื้นฟูบ้าน สมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี รับสิทธิพิเศษจุใจ ครอบคลุมทั้งการซื้อสินค้าและงานบริการ
15 ก.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy