แชร์

การยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าสร้างแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศแกนหลัก ส่วนจีนเผชิญปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน

อัพเดทล่าสุด: 1 เม.ย. 2025
152 ผู้เข้าชม

เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงชะลอตัวแรงกว่าคาด หลังทรัมป์ยกระดับสงครามการค้าผ่านการปรับขึ้นภาษีรถยนต์ 25% ในเดือนมีนาคม ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นพลิกกลับมาหดตัวที่ 49.8 ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 54.3 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับลดลงสู่ระดับ 57 ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565

การยกระดับความรุนแรงของสงครามการค้าเพิ่มความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจสูงกว่าคาดผ่านต้นทุนการนำเข้าที่สูงขึ้นและการจ้างงานที่ลดลง สะท้อนผ่านดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงกว่า 3% ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) รวมถึงเก็บภาษีนำเข้า 25% สำหรับรถยนต์ทุกคันที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้วันที่ 3 เมษายนนี้ โดยภาพดังกล่าวอาจนำไปสู่การใช้มาตรการตอบโต้ของกลุ่มประเทศคู่ค้าอื่นๆ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและการค้าในระยะถัดไป จากเหตุผลข้างต้น วิจัยกรุงศรีคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% สู่ระดับ 3.50-3.75% ในช่วงสิ้นปี นับตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้

เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจฟื้นตัวช้ากว่าคาดจากเงินเฟ้อที่ยังสูง รวมถึงสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ในเดือนมีนาคม ดัชนี PMI ภาคการผลิตเบื้องต้นหดตัวลงสู่ระดับ  48.3 ขณะที่ ดัชนี PMI ภาคบริการเบื้องต้นพลิกกลับมาหดตัวที่ 49.5 นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในกรุงโตเกียว (Tokyo CPI) เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 2.8% สู่ระดับ 2.9% YoY ในเดือนมีนาคม เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในกรุงโตเกียว (Tokyo core CPI) เพิ่มขึ้นจาก 2.2% สู่ระดับ 2.4%

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจเผชิญแรงกดดันมากขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงรวมถึงสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้นหลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า 25% สำหรับรถยนต์ทุกคันที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐฯ โดยมาตรการดังกล่าวคาดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากรถยนต์คิดเป็นสัดส่วนมากถึง 28.3% ของการส่งออกทั้งหมดของญี่ปุ่นไปยังสหรัฐในปี 2567 โดยญี่ปุ่นเผยว่าเตรียมพิจารณาเจรจารับมือและยังไม่ตัดความเป็นไปได้ที่อาจจะใช้มาตรการตอบโต้ต่อสหรัฐฯ ทั้งนี้ แม้แรงกดดันเงินเฟ้อยังคงสูงแต่การฟื้นตัวที่ล่าช้าของเศรษฐกิจโดยรวมคาดส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

เศรษฐกิจภายในประเทศของจีนยังเปราะบาง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงภายนอกจากสงครามการค้ารุนแรงขึ้น กำไรภาคอุตสาหกรรมในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์หดตัว -0.3% YoY จาก +11% ในเดือนธันวาคม สอดคล้องกับยอดค้าปลีกสินค้าซึ่งขยายตัวเพียง 4% ขณะที่ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและดัชนียอดค้าปลีกยังยังแตกต่างกันค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับระดับในช่วงก่อนโควิดระหว่างปี 2557-2562 (ดังรูป)

ตัวชี้วัดข้างต้นสะท้อนภาพเศรษฐกิจจีนที่ยังเผชิญแรงกดดันจากการผลิตส่วนเกินในหลายอุตสาหกรรม ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแรงลง นอกจากนี้ การส่งออกยังชะลอลงอย่างชัดเจน (2.3% ในช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ จาก 6-11% ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2567) ล่าสุดสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ายานยนต์จากทุกประเทศในอัตรา 25% โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 3 เมษายน วิจัยกรุงศรีประเมินว่าผลกระทบส่วนเพิ่มจากการขึ้นภาษียานยนต์ต่อจีนยังจำกัด โดยคาดว่าการส่งออกจะลดลงจากกรณีฐาน 0.32% อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีชิ้นส่วนยานยนต์ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจรุนแรงมากยิ่งขึ้น

เศรษฐกิจไทย

มาตรการตอบโต้ภาษีของสหรัฐฯ และการฟื้นตัวช้าของภาคท่องเที่ยว นับเป็นปัจจัยความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

เศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์ได้แรงหนุนชั่วคราวจากภาคส่งออกที่โตสูง ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนชะลอตัวลง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานเศรษฐกิจไทยในเดือนกุมภาพันธ์ ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ 14% YoY ส่วนภาคท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยชะลอลงเหลือ 3.12 ล้านคน (-6.9% YoY) ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีทิศทางชะลอตัวจากการลดลงของการบริโภคในหมวดสินคงทนเป็นสำคัญ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนสะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนที่ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวแรงขึ้นเป็น -3.9% ในเดือนกุมภาพันธ์

แนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงจากมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งกระทบต่อการเติบโตของภาคส่งออกที่เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี ล่าสุดสหรัฐฯประกาศจะเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์เพิ่มขึ้น 25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน แม้ไทยอาจได้รับผลกระทบทางตรงในวงจำกัด เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ของไทยไปสหรัฐฯ มีสัดส่วนเพียง 1.6% ของการส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของไทย แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยลดลงจากกรณีฐานฯ -0.05% นอกจากนี้ หากสหรัฐฯ เดินหน้าบังคับใช้มาตรการภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) อย่างจริงจังกับประเทศที่มีดุลการค้าเกินดุลกับตนเอง ไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับมาตรการภาษีดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและภาคการผลิตของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้ อัตราภาษีเฉลี่ยของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ ประมาณ 5-6% และเมื่อรวมกับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งอยู่ที่ 7% อาจส่งผลให้สหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีตอบโต้สินค้าจากไทยสูงถึง 13% อาจกลายเป็นอัตราภาษีที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

รัฐบาลเตรียมกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ขณะที่เหตุการณ์แผ่นดินไหวอาจกระทบต่อภาคท่องเที่ยวในระยะสั้น สถานการณ์ภาคท่องเที่ยวล่าสุด จากข้อมูลในช่วงวันที่ 1 มกราคม-23 มีนาคม มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 8.89 ล้านคน (+2.9% YoY) สร้างรายได้ 434,662 ล้านบาท  นำโดยนักท่องเที่ยวจีน (1,259,391 คน)  มาเลเซีย (1,057,438) รัสเซีย (667,905) อินเดีย (498,341) และเกาหลีใต้ (475,124) ด้านท่องเที่ยวในประเทศ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 16.48 ล้านคน-ครั้ง (+4.1% YoY) สร้างรายได้ 8.8 พันล้านบาท (+6.6%)

การประคองการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวให้มีความต่อเนื่องหลังจากการฟื้นตัวช้าของนักท่องเที่ยวจีน ล่าสุดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเปิดเผยว่ากำลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการเราเที่ยวด้วยกันในช่วงโลว์ซีซั่น (หลังเทศกาลสงกรานต์) เบื้องต้นกำหนดไว้ 1 ล้านสิทธิ์ รายละไม่เกิน 3,000 บาท โดยรัฐช่วยจ่าย 40% สำหรับเที่ยวเมืองหลัก และ 50% สำหรับเมืองรอง (ไม่รวมตั๋วเครื่องบิน) รวมถึงอาจพิจารณาต่อมาตรการฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน แต่อาจลดจำนวนวันลงจาก 90 วันเหลือ 30 วัน (ส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ 10-15 วัน) ขณะที่เหตุการณ์ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงยังคงต้องรอติดตามการประเมินความเสียหายรวมถึงอาจมีผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภค รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศได้ เบื้องต้นสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) และสมาคมโรงแรมไทย (THA) ชี้ว่าผลกระทบในระยะสั้นจะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจากความกังวลเรื่องปลอดภัย โดยคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะลดลง 10-15% หรืออาจจะมากกว่านี้ในช่วง 2 สัปดาห์จากนี้ไป


บทความที่เกี่ยวข้อง
OCEAN LIFE ไทยสมุทร ส่งท้าย Pride Month สนับสนุนสมรสเท่าเทียม มอบกรมธรรม์คู่ชีวิต Power of Love Equality ให้คู่รัก LGBTQ+ ดูแลกันตลอดไป
บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต รักคือพลังของชีวิต นำโดยคุณสมชัย อาภรณ์ศิริพงษ์ Deputy Chief Executive Officer ร่วมฉลองและส่งท้ายเดือนแห่งความภาคภูมิใจ Pride Month ด้วยการมอบกรมธรรม์ Power of Love Equality
14 ก.ค. 2025
บ้านปู เปิดตัววิดีโอ พลังงานที่สมดุล  สะท้อนความมุ่งมั่นสร้างพลังงานที่เสถียร ราคาเหมาะสม ดีต่อสิ่งแวดล้อม
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความต้องการใช้พลังงานกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจากการเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทำให้จำนวนศูนย์ข้อมูล (Data Center)
14 ก.ค. 2025
ลุ้นโชคต่อ “ตั๋วหนังทองคำ ปี 2”  ดูหนังที่ เอส เอฟ ทุกที่นั่ง ลุ้นรับทองคำตลอดปี 68
บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดย คุณธารทิพย์ ไกรสินธุ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดภาพยนตร์ ร่วมกับ บริษัท พรีเมี่ยม โกลด์ เยาวราช จำกัด โดย คุณพัณณ์ภัสส์ ฝอยเพ็ชร ผู้ช่วยอำนวยการฝ่ายบริหารห้างทอง จัดต่อเนื่อง
14 ก.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy