แชร์

เศรษฐกิจโลกเริ่มเห็นผลกระทบจากมาตรการปรับขึ้นภาษีศุลกากรชัดเจนขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางเพิ่มความระมัดระวังในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน

อัพเดทล่าสุด: 20 พ.ค. 2025
80 ผู้เข้าชม
เฟดกังวลความเสี่ยงเงินเฟ้อพร้อมเล็งทบทวนกรอบนโยบายการเงินใหม่ มูดี้ส์ เรทติ้งส์ ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของรัฐบาลสหรัฐฯ จาก Aaa เหลือ Aa1 จากหนี้สาธารณะและภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศอื่นที่มีอันดับใกล้เคียงกัน โดยคาดว่า หนี้สาธารณะจะพุ่งขึ้นแตะ 134% ของ GDP ภายในปี 2578 (จาก 98% ในปี 2567)

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มเห็นผลกระทบจากมาตรการภาษีการค้าที่ชัดเจนขึ้น สะท้อนจาก (i) ดัชนีการผลิต (Philly Fed Index) ในเดือนพฤษภาคม หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง (ii) ดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนเมษายนปรับลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 และ (iii) ยอดค้าปลีกเดือนเมษายนโตเพียง 0.1% MoM จากเดือนก่อนที่ 1.7% อย่างไรก็ตาม ประธานเฟดชี้ว่าอาจต้องทบทวนกรอบนโยบายการเงินใหม่จากสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป รวมถึงความเสี่ยงจาก supply shock ที่สูงขึ้น ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณเตรียมกำหนดอัตราภาษีศุลกากรเอง แทนที่จะมีการทำข้อตกลงกับทุกประเทศ ซึ่งเพิ่มความไม่แน่นอนต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลก วิจัยกรุงศรีคาดว่าเฟดจะประเมินผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ต่อทิศทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสหรัฐฯในระยะนี้ ก่อนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังปีนี้

เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี ขณะที่ทีมเศรษฐกิจเสนออัดฉีดเงิน 4 แสนล้านดอลลาร์ฯ หนุน SMEs ในอีก 5 ปีข้างหน้า กรรมการ BOJ เตือนยังไม่ควรรีบขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุว่ามาตรการภาษีของสหรัฐฯ อาจเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เป็นหัวใจสำคัญของประเทศ พร้อมเรียกร้องให้ BOJ ดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง

มาตรการจัดเก็บภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ เพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นมากขึ้นหลังจาก GDP หดตัวลงในไตรมาส 1 จากการบริโภคที่ชะลอตัว โดยเฉพาะในฝั่งของส่งออกที่หดตัวลง และมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่องจากการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูง ประเด็นดังกล่าวยังต้องรอความคืบหน้าในการเจรจากับสหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือนนี้ ล่าสุดญี่ปุ่นเผยว่ายินดีพิจารณานำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งในข้อแลกเปลี่ยนในการให้สหรัฐฯ ยกเว้นจัดเก็บภาษียานยนต์ นอกจากนี้ ทีมเศรษฐกิจเสนอให้รัฐบาลอัดฉีดเงินลงทุน 4 แสนล้านดอลลาร์ฯ เป็นระยะเวลา 5 ปีเพื่อเพิ่มผลิตภาพของธุรกิจ SMEs ซึ่งครองสัดส่วนแรงงานกว่า 70% ของประเทศ ภายใต้ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น วิจัยกรุงศรีคาดว่า BOJ จะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ต่อเนื่อง ก่อนพิจารณาปรับขึ้นในช่วงปลายปีนี้

จีนยังคงเผชิญแรงกดดันจากภาวะอุปทานส่วนเกิน แม้ความตึงเครียดทางการค้าเริ่มผ่อนคลายลงบ้าง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายนติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ -0.1% YoY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวที่ 0.5% ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงต่อเนื่องจาก -2.5% เป็น -2.7% โดยติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 31 ขณะเดียวกันจีนออกคำสั่งระงับการควบคุมการส่งออกแร่หายากเป็นระยะเวลา 90 วัน หลังจีนและสหรัฐฯ เห็นชอบการลดภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็นการชั่วคราว

ตัวเลขเงินเฟ้อฝั่งผู้บริโภคและผู้ผลิตล่าสุดสะท้อนความอ่อนแอของอุปสงค์และภาวะอุปทานส่วนเกินที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจ ขณะที่มาตรการกระตุ้นที่ผ่านมาอาจไม่เพียงพอในการหนุนให้การบริโภคฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ในอีกด้านหนึ่ง การปรับลดภาษีนำเข้าระหว่างกันของสหรัฐฯและจีนจากเดิม 145% เป็น 30% และจากเดิม 125% เป็น 10% ตามลำดับ อาจช่วยบรรเทาผลกระทบลงบ้าง โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่า GDP จีนจะลดลง -0.3% ในระยะยาว (จากกรณีเดิม -0.8%) แต่ผลกระทบต่อการส่งออกของจีนในระยะยาวยังสูงที่ -4.2% (จากเดิม -6.3%) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยาและพลาสติก (-6.2% จากเดิม-11.4%) อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า (-5.9% จากเดิม -9.5%) รวมถึงสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (-5.7% จากเดิม -8.3%)

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจในไตรมาสแรกได้แรงหนุนชั่วคราวจากการขยายตัวของภาคส่งออกและการลงทุนภาครัฐ ขณะที่แรงส่งจากภาคเอกชนมีแนวโน้มอ่อนแรงลง

GDP ไตรมาส 1 ปี 2568 เติบโต 3.1% YoY แนวโน้มเศรษฐกิจเผชิญกับ scenario-ception จากความเสี่ยงสงครามการค้าและความเปราะบางภายในประเทศ สภาพัฒน์ฯ (สศช.) รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัว 3.1% ดีกว่าที่นักวิเคราะห์และวิจัยกรุงศรีคาดไว้เล็กน้อยที่ 2.9% ปัจจัยหนุนหลักจากการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง และการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวติดต่อกัน 4 ไตรมาส  

แม้ GDP ไตรมาส 1 ขยายตัวเกินคาดเล็กน้อย แต่กลับส่งสัญญาณเชิงลบหลายประการ สะท้อนจาก (i) การส่งออกที่เร่งขึ้น (+13.8% YoY) ไม่ได้หนุนกิจกรรมภายในประเทศ  เพราะส่วนใหญ่มาจากการใช้สินค้าคงคลัง แต่การผลิตภาคอุตสาหกรรมแทบไม่ขยายตัว (+0.6%) (ii) การบริโภคภาคเอกชนสูญเสียแรงส่งการเติบโต (+2.6% จาก +3.4% ใน 4Q67) หลังจากมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟสที่ 1 วงเงิน 1.4 แสนล้านบาทสิ้นสุดลง ส่วนเฟสที่ 2 และโครงการ Easy E-Receipt ให้ผลบวกจำกัดต่อการบริโภค และ (iii) การลงทุนภาครัฐที่เติบโตสูง 26.3% ยังไม่สามารถสร้าง Crowding-in effect หรือผลบวกต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งล่าสุดหดตัว -0.9%

สำหรับประมาณการปี 2568 สภาพัฒน์ฯคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเพียง 1.8% ในกรณีฐาน ภายใต้ข้อสมมติว่าภาษีศุลกากรจะสูงกว่าระดับปัจจุบัน โดยภาษีตอบโต้ (reciprocal tariffs) เป็นครึ่งหนึ่งของอัตราที่ประกาศไว้ เช่น ไทยถูกเก็บภาษีเพิ่มเป็น 18% จากปัจจุบันที่ 10% แต่หากในกรณีที่คงภาษีนำเข้าไว้ที่ 10% (low tariff) GDP ไทยจะเติบโต 2.3% และในกรณีเลวร้าย (high tariff) ซึ่งไทยถูกเก็บภาษีสูงถึง 36% คาดว่า GDP ปีนี้อาจโตเพียง 1.3% เท่านั้น

วิจัยกรุงศรีประเมินว่าไทยกำลังเผชิญภาวะ scenario-ception ซึ่งมีความเสี่ยงจากความหลากหลายของฉากทัศน์การปรับขึ้นภาษีนำเข้า และยังมีความเสี่ยงซ้อนจากความเปราะบางภายในประเทศ ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้าง ความไม่แน่นอนของประสิทธิผลของนโยบายเศรษฐกิจ และความล่าช้าของการฟื้นตัวในภาคท่องเที่ยว ปัจจัยด้งกล่าวล้วนเพิ่มความเสี่ยงด้านต่ำต่อการเติบโตและอาจเป็นปัญหาที่ฝังลึกลงสู่ระบบเศรษฐกิจไทย

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายนลดลงต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจยังต้องรอความชัดเจน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเมษายนปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน ที่ 55.4 จาก 56.7 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับ (i) เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าและมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าคาด โดยหลายหน่วยงานทยอยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ (ii) ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่ค้า และ (iii) ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ

การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณเชิงลบเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลงต่อเนื่องและอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด  (ปี 2562 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 75.5) ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ในอีก 6 เดือนข้างหน้าที่ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 สะท้อนถึงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลางซึ่งเผชิญกับแรงกดดันสำคัญจากปัจจัยภายในและภายนอก แม้ล่าสุดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีนผ่อนคลายลงบ้าง หลังจากทั้งสองฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงปรับลดภาษีลงชั่วคราว 115% เป็นระยะเวลา 90 วัน แต่สถานการณ์โดยรวมยังมีความไม่แน่นอนสูง หากการเจรจารอบต่อไปไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเพิ่มเติมอาจสั่นคลอนต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก นอกจากนี้ ความคืบหน้าการเจรจาการค้าของไทยกับสหรัฐฯ นับเป็นประเด็นสำคัญที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดแม้เห็นสัญญาณเชิงบวกอยู่บ้าง อย่างไรก็ดี จากผลกระทบของนโยบายการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้รัฐบาลอาจมีการทบทวนโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่มีวงเงินอยู่ราว 1.57 แสนล้านบาท เพื่อนำมาปรับใช้กับโครงการที่มีความคุ้มค่าลามารถช่วยบรรเทาความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

บทความที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ออลล์ เคาะดอกเบี้ย หุ้นกู้อายุ 4 ปี 10 เดือน 13 วัน 2.90% ต่อปี  พร้อมเสนอขายผู้ถือหุ้นกู้เดิม 28-30 พ.ค. และผู้ลงทุนทั่วไป 25-27 มิ.ย. 2568 นี้
ซีพี ออลล์ (บริษัทฯ) เคาะดอกเบี้ยหุ้นกู้ชุดใหม่ อายุ 4 ปี 10 เดือน 13 วัน ที่ 2.90% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก ๆ 6 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ (ยกเว้นงวดดอกเบี้ยสุดท้าย ซึ่งมีระยะเวลาน้อยกว่า 6 เดือน)
23 พ.ค. 2025
เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 2 รางวัลระดับนานาชาติ  สะท้อนความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมดิจิทัลในอุตสาหกรรมประกันภัย
เมืองไทยประกันชีวิต ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมดิจิทัลในธุรกิจประกันภัย ด้วยการคว้า 2 รางวัลสำคัญระดับนานาชาติ ได้แก่ รางวัล ITC Asia Awards 2024 สาขา Digital Insurer Award
23 พ.ค. 2025
ทีทีบี ปล่อย รถบริการรับย้ายแบงก์ เสิร์ฟลูกค้าถึงที่  ชูโปรแกรม ผ่อนดี มีรางวัล ดอกเบี้ยต่ำ ปิดหนี้ไว ช่วยคนไทยปลดหนี้
ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ปล่อย รถบริการรับย้ายแบงก์ เสิร์ฟโซลูชันช่วยคนไทยปลดหนี้ ครอบคลุมสินเชื่อบ้าน สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อบุคคล ผ่านโปรแกรม ทีทีบี
23 พ.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy