แชร์

ttb analytics มองภาคก่อสร้างเอกชนหมดบุญเก่าไร้แรงหนุนใหม่ แนะภาครัฐเร่งฟื้นเศรษฐกิจสร้างความเชื่อมั่นหนุนให้ธุรกิจเดินหน้าต่อ

อัพเดทล่าสุด: 23 พ.ค. 2025
69 ผู้เข้าชม

อุตสาหกรรมก่อสร้างนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีลักษณะเป็นอุปสงค์สืบเนื่อง (Derived Demand) ที่ไม่สามารถสร้างความต้องการด้วยตนเองได้แต่เป็นการตอบสนองต่ออุปสงค์ของภาคธุรกิจ ทั้งในกลุ่มงานก่อสร้างเอกชนที่อยู่อาศัยที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้คนในพื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงงานก่อสร้างอาคารสำนักงาน และห้างสรรพสินค้าที่ก่อสร้างเพื่อวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจ ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สัญญาณบวกที่ช่วยหนุนให้ภาคก่อสร้างเอกชนเติบโตมีแรงส่งที่เบาบางลงเรื่อย ๆ ทั้งส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัวลงจากภาวะตลาดที่ไม่สมดุลกับความสามารถในการซื้อที่มีช่องว่างห่างขึ้นจากราคาที่อยู่อาศัยที่ถีบตัวสูงตามภาวะต้นทุนก่อสร้างและราคาที่ดิน รวมถึงกลุ่มงานก่อสร้างเอกชนเพื่อพาณิชยกรรม อาทิ กลุ่มอาคารสำนักงานที่ประสบปัญหาอัตราการครองพื้นที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากอุปทานอาคารสำนักงานที่มีการก่อสร้างเร่งตัวในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มห้างสรรพสินค้าที่เผชิญข้อจำกัดในการหาพื้นที่ศักยภาพ รวมถึงแนวโน้มของการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะชะลอตัวจากเม็ดเงินลงทุนที่เข้ามาไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนในไตรมาสแรกปี 2568 หดตัว 3.2% จากช่วงเวลาเดียวกันเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า รวมถึงคาดการณ์ว่าทั้งปี 2568 มูลค่างานก่อสร้างเอกชนอาจหดตัวถึง 5.6% ที่มูลค่า 5.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน แม้ในปี 2568 มีผลของราคางานรับเหมาในแต่ละโครงการคาดมีแนวโน้มปรับเพิ่มจากต้นทุนการก่อสร้างที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างหลักอย่างเหล็กและคอนกรีตยังคงเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกปี 2567 ที่ 9.5% และ 1.5% ตามลำดับ รวมถึงปัจจัยเรื่องค่าจ้างที่มีการประกาศปรับเมื่อเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ก็ทำให้ส่วนของต้นทุนค่าแรงงานเพิ่มขึ้น ด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้

ตลาดที่อยู่อาศัยยังอยู่ในวังวนภาวะไม่เจอจุดสมดุล (Imbalance) สร้างแรงกดดันต่อการก่อสร้างเอกชนมากขึ้น

เนื่องด้วยสัดส่วนการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเมื่อพิจารณาในมิติของพื้นที่ก่อสร้างถูกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 69.1% ของการก่อสร้างงานเอกชนรวม ส่งผลให้การหดตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อภาคก่อสร้าง โดยคาดหน่วยโอนที่อยู่อาศัยปี 2568 มีทิศทางลดลงจากปี 2567 ทั้งในส่วนของตลาดแนวราบที่ 4.4% คาดหดตัว 3 ปีต่อเนื่อง (2566 2568) และตลาดแนวสูงที่คาดพลิกหดตัว 3.8% หลังจากเติบโตได้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2565 2567) ทั้งนี้ แรงกดดันในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยที่ไทยกำลังเผชิญเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจากภาวะที่ไม่เจอจุดสมดุลจากอุปสงค์และอุปทาน กล่าวคือ ฝั่งอุปสงค์มีการชะลอจากความจำเป็นในการซื้อที่ลดตามขนาดครอบครัวที่เล็กลงและภาวะคนโสดมากขึ้น ภายใต้สมมติฐานที่ว่าที่อยู่อาศัยสามารถส่งต่อเป็นมรดกส่งผลให้คนรุ่นใหม่รับมรดกจากพ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ที่ไม่มีครอบครัว รวมถึง

ความสามารถในการซื้อที่ด้อยลง จากราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวสูงเร็วกว่ารายได้และภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับที่น่ากังวล ในขณะที่แรงกดดันจากฝั่งผู้ซื้อเร่งตัว ฟากอุปทานก็ยังได้รับแรงกดดันจากทั้งต้นทุนก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงหน่วยที่อยู่อาศัยค้างขายที่อัตราดูดซับ (คือ ดัชนีชี้วัด อุปสงค์ ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ว่าในทำเลนั้น ๆ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด) ปัจจุบันต้องใช้เวลากว่า 43 เดือน จึงจะสามารถระบายหน่วยที่อยู่อาศัยค้างขายเพื่อขายให้หมด ส่งผลให้บรรยากาศของการทำโครงการที่อยู่อาศัยใหม่เบาบางลงและส่งผลต่อโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในปี 2568 ที่คาดจะย่อตัวลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สะท้อนผ่านพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 มีพื้นที่ก่อสร้างที่อยู่อาศัย 19.6 ล้านตร.ม. ปรับลดเหลือเพียง 14.9 ล้านต.ร.ม. ในช่วงเวลาเดียวกันปี 2567 หรือปรับหดตัวกว่า 23.5%

ตลาดอาคารสำนักงานคาดเตรียมเผชิญแรงกดดันอัตราพื้นที่ว่างคาดเพิ่มสูงขึ้นจากอุปทานทะลัก

จากการแพร่ระบาดของวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้บริษัท องค์กร สถานที่ทำงานต่าง ๆ ต้องปรับรูปแบบการทำงานให้พนักงานทำงานจากบ้าน (Work from Home) ทำงานจากระยะไกล (Remote Work) โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ส่งผลให้แม้วิกฤตโควิดได้ผ่านพ้นไป รูปแบบการทำงานของบางหน่วยงานก็ยังคงรักษารูปแบบการทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid Workplace) ที่มีการดึงข้อดีระหว่างการทำงานจากบ้านและการทำงานที่ออฟฟิศเข้าด้วยกัน ส่งผลให้ความต้องการพื้นที่สำหรับภาคธุรกิจย่อมปรับลดลง อีกทั้งจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่เผชิญการเติบโตต่ำในรอบหลายปีโดยเฉพาะในภาคการลงทุนเอกชนที่เติบโตเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ต่ำเพียง 0.3% ต่อปี (CAGR 2562 2567) ทำให้อุปสงค์สำหรับพื้นที่เช่าอาคารสำนักงานในปี 2568 ได้รับแรงกดดันจากการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานรูปแบบผสมผสาน (Hybrid Workplace) และความต้องการพื้นที่เช่าสำนักงานที่สามารถจะชดเชยจากภาคการลงทุนก็มีทิศทางชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดีในขณะที่อุปสงค์สำหรับพื้นที่เช่าอาคารสำนักงานลดลง พื้นที่เช่ากลับมีทิศทางเพิ่มขึ้นสวนทางจาก ภาวการณ์ไม่สมมาตรในเรื่องของเวลาที่อุปทานอาคารสำนักงานส่วนใหญ่อาจต้องใช้เวลา 3-5 ปี นับจากการก่อสร้างถึงจะเริ่มเปิดบริการให้เช่าพื้นที่ และจากการชะลอตัวของโครงการก่อสร้างด้วยผลของการแพร่ระบาดของวิกฤตโควิด-19 พื้นที่เช่าอาคารสำนักงานที่มีคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมากลับมีความล่าช้าและประดังเข้ามาแล้วเสร็จในปี 2568 พร้อมกัน ด้วยพื้นที่ให้เช่ากว่า 5.4 แสนตร.ม. ส่งผลให้ตลาดอาคารสำนักงานในปัจจุบันกำลังเผชิญภาวะอุปทานล้น (Oversupply) สะท้อนผ่านอัตราครองพื้นที่ (Occupancy Rate) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มมีทิศทางปรับลดลงจากเดิมที่ 90.5% ในปี 2562 เหลือ 77.1% ในปี 2567 และ ttb analytics ก็คาดว่าในปี 2568 อัตราครองพื้นที่ (Occupancy Rate) ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเฉลี่ยอาจปรับลดลงสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 73% ส่งผลให้ทิศทางการก่อสร้างอาคารสำนักงานในระยะถัดไปคาดชะลอตัวจากภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจที่ไม่มีปัจจัยเร่งให้อุปสงค์ของอาคารสำนักงานปรับตัวปิดช่องอุปทานส่วนเกินได้อย่างน้อยที่สุดในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า

ตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชย์พักฐาน และอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมซึมจากแรงกดดันของนโยบายทรัมป์

ตามธรรมชาติของการลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์มักมีข้อจำกัดพิเศษ โดยเน้นเรื่องทำเลที่ตั้งที่มีประชากรหนาแน่นและต้องมีกำลังซื้อ รวมถึงโครงการก่อสร้างในแต่ละโครงการต้องใช้งบประมาณที่สูงส่งผลให้การขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์มักเผชิญข้อจำกัดหลัก ๆ 2 ประการ คือ 1) พื้นที่ศักยภาพเริ่มจำกัดในการเข้าไปพัฒนาโครงการใหม่ ซึ่งในระยะที่ผ่านมาเริ่มเห็นข้อจำกัดในการขยายพื้นที่ค่อนข้างชัดเจนจากทำเลที่เริ่มจำกัดและต้องเลือกทำเลในพื้นที่เมืองรองเพิ่มมากขึ้น และ 2) ด้านการวางแผนเกี่ยวกับการลงทุนเนื่องจากการลงทุนในโครงการหนึ่ง ๆ ย่อมมีส่วนทุนที่ต้องลงทุนไปในโครงการนั้นนับเป็นเม็ดเงินมหาศาล แต่การรับรู้รายได้กลับเป็นรูปแบบของรายได้หมุนเวียนจากค่าเช่าพื้นที่ (Recurring Income) มากกว่าการรับรู้รายได้จากการขายขาดดังเช่นในอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ส่งผลกระทบต่อเงินลงทุนที่จมในโครงการมากกว่าการลงทุนในกลุ่มที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ทั้งสองแรงกดดันชะลอความต้องการก่อสร้างเพื่อพาณิชยกรรมในปี 2568 สะท้อนผ่านตัวเลขพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างที่ปรับลดจาก 5.2 ล้านตร.ม. ในปี 2566 เหลือเพียง 4.5 ล้านตร.ม. ในปี 2567 หรือลดลง 14.4%

ในส่วนของการก่อสร้างเพื่ออุตสาหกรรมจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่เผชิญการเติบโตต่ำในรอบหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ที่เติบโตเฉลี่ยเพียง 2.2% ต่อปี (2564 - 2567) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มภูมิภาคเดียวกัน ส่งผลต่อแรงดึงดูดของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) โดยในปี 2566 ไทยได้รับเม็ดเงินลงทุน 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ไทยได้รับเม็ดเงินลงทุนที่ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงเม็ดเงินลงทุนในปี 2566 ไทยถือเป็นแหล่งที่ได้รับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในมูลค่าต่ำที่สุดในภูมิภาคอาเซียน (ไม่นับ ลาว กัมพูชา และพม่า) ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวกดดันมูลค่าการก่อสร้างเพื่ออุตสาหกรรมสะท้อนผ่านตัวเลขพื้นที่นิคมจัดตั้งใหม่ หากเมื่อเปรียบเทียบตามระยะเวลาก่อสร้างราว 1 2 ปีแล้วพบว่า ในช่วงปี 2564 2565 ที่ผ่านมาไทยมีนิคมขอจัดตั้งใหม่มากถึง 7 แห่ง มีพื้นที่กว่า 15.3 ล้านตร.ม. ขณะที่ปี 2566 2567 มีเพียง 3 แห่งและมีพื้นที่เพียง 6.5 ล้านตร.ม. ลดลงสูงถึง 57.3% ส่งผลให้พื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมปรับลดลงจากปี 2566 ที่ 12.8 ล้านตร.ม. เหลือเพียง 7.9 ล้านตร.ม. ในปี 2567 หรือลดลง 38.1%

ttb analytics มองแรงส่งก่อสร้างเอกชนหมดแรง รัฐควรเร่งแก้ไขปัญหาสร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจให้เป็นรูปธรรม

จากสภาวะการณ์ที่อุปสงค์จริง (Real Demand) ที่เป็นแรงขับเคลื่อนอุปสงค์สืบเนื่อง (Derived Demand) ภาคก่อสร้างเอกชน ไม่ว่าจะมาจากวัตถุประสงค์ของการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม รวมถึง อสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรม ต่างมีแรงกดดันพร้อม ๆ กัน ต่างจากในอดีตที่แม้จะมีแรงกดดันในบางภาคส่วน เช่น แรงตึงในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย แต่อาจชดเชยด้วยการก่อสร้างอาคารสำนักงาน หรืออสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ ส่งผลให้นับจากปี 2568 เป็นจุดเริ่มต้นของสภาวะฟุบตัวต่อเนื่องจากสถานการณ์ที่ปราศจากแรงส่ง การไร้จุดกระตุ้น ดังนั้น จึงเป็นโจทย์หลักที่ท้าทายภาครัฐในการกระตุ้นให้ภาคเศรษฐกิจมีทิศทางที่ฟื้นตัวให้เป็นรูปธรรมเพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคประชาชนเริ่มมีความมั่นใจในการซื้อหาที่อยู่อาศัย เพื่อจับจ่ายใช้สอยเพียงพอ อีกทั้งยังต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมเพื่อให้มั่นใจในการเข้าไปประกอบการ รวมถึงทิศทางในอนาคตของเศรษฐกิจไทยที่มั่นคงเพียงพอที่จะโน้มน้าวการลงทุนของต่างชาติเพื่อกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์เพื่ออุตสาหกรรมได้


บทความที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ออลล์ เคาะดอกเบี้ย หุ้นกู้อายุ 4 ปี 10 เดือน 13 วัน 2.90% ต่อปี  พร้อมเสนอขายผู้ถือหุ้นกู้เดิม 28-30 พ.ค. และผู้ลงทุนทั่วไป 25-27 มิ.ย. 2568 นี้
ซีพี ออลล์ (บริษัทฯ) เคาะดอกเบี้ยหุ้นกู้ชุดใหม่ อายุ 4 ปี 10 เดือน 13 วัน ที่ 2.90% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก ๆ 6 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ (ยกเว้นงวดดอกเบี้ยสุดท้าย ซึ่งมีระยะเวลาน้อยกว่า 6 เดือน)
23 พ.ค. 2025
เมืองไทยประกันชีวิต คว้า 2 รางวัลระดับนานาชาติ  สะท้อนความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมดิจิทัลในอุตสาหกรรมประกันภัย
เมืองไทยประกันชีวิต ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมดิจิทัลในธุรกิจประกันภัย ด้วยการคว้า 2 รางวัลสำคัญระดับนานาชาติ ได้แก่ รางวัล ITC Asia Awards 2024 สาขา Digital Insurer Award
23 พ.ค. 2025
ทีทีบี ปล่อย รถบริการรับย้ายแบงก์ เสิร์ฟลูกค้าถึงที่  ชูโปรแกรม ผ่อนดี มีรางวัล ดอกเบี้ยต่ำ ปิดหนี้ไว ช่วยคนไทยปลดหนี้
ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี ปล่อย รถบริการรับย้ายแบงก์ เสิร์ฟโซลูชันช่วยคนไทยปลดหนี้ ครอบคลุมสินเชื่อบ้าน สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ และสินเชื่อบุคคล ผ่านโปรแกรม ทีทีบี
23 พ.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy