แชร์

ปี 2025 เศรษฐกิจคาดเดายากเหมือนงูเลื้อย แนะตั้งรับแรงกระแทก P-R-N-D สัญลักษณ์เกียร์ออโต้ ที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายของทรัมป์

อัพเดทล่าสุด: 24 ธ.ค. 2024
100 ผู้เข้าชม

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 2025 เปรียบได้กับงูที่ใส่เกียร์เดินหน้าเลื้อยคดบนถนนเศรษฐกิจ จากภูมิทัศน์เศรษฐกิจโลกกำลังเปลี่ยนแปลงและซับซ้อนภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีทรัมป์ ไทยจำเป็นต้องปรับตัวและรับมือกับความท้าทาย  โดยได้รับแรงหนุนจากปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว การแจกเงินจากภาครัฐ และการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน เป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2025  แม้จะมีแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก สำนักวิจัยฯ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 2.7%

เลื้อยคดบนถนนเศรษฐกิจไทยปี 2025

1.      การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว การฟื้นตัวและขยายตัวต่อเนื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังเป็นจุดเด่น จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายต่อหัวที่สูงขึ้นโดยเฉพาะจากตลาดยุโรปและเอเชีย โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นแตะ 39.1 ล้านคนในปี 2025 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 35.6 ล้านคนในปี 2024 แต่ยังต่ำกว่าจำนวน 39.9 ล้านคนในปี 2019 แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนยังไม่ถึงระดับก่อนโควิด แต่นักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทั้งค่าโรงแรมและร้านอาหาร ส่งผลเชิงบวกต่อโรงแรมระดับ 4 และ 5 ดาว รวมถึงที่พักสไตล์บูติก ขณะที่โรงแรมระดับ 3 ดาวในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญจะยังฟื้นตัวช้ากว่า

2.      โครงการแจกเงินจากภาครัฐ เพื่อกระตุ้นการบริโภคของครัวเรือนและลดภาระค่าครองชีพมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนในปี 2025 โดยเฉพาะในภาคบริการและสินค้าไม่คงทน

3.      การลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า (EVs) และแบตเตอรี่ โดยได้รับแรงหนุนจากการย้ายฐานการผลิตและโอกาสใหม่ในอาเซียน นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและพลังงานจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมในภาครัฐและเอกชน เสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการลงทุนภาคเอกชนจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยอาจยังเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวให้เข้ากับห่วงโซ่อุปทานของจีน รวมถึงต้องรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากผู้ประกอบการจีน

แม้ว่าจะมีปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโต แต่ก็ยังมีปัจจัยเหนี่ยวรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย  อาทิ กำลังซื้อของครัวเรือนรายได้น้อยอ่อนแอ การส่งออกที่ฟื้นตัวช้า และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซา

1.      กำลังซื้อของครัวเรือนรายได้น้อยอ่อนแอ โดยเฉพาะกลุ่มที่พึ่งพารายได้จากภาคการเกษตร ยังคงเผชิญกับความยากลำบากจากรายได้ภาคการเกษตรที่ลดลงและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งจำกัดความสามารถในการใช้จ่าย แม้รัฐบาลจะมีโครงการโอนเงินช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก็ตาม

2.      การส่งออกยังคงฟื้นตัวช้า โดยได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าโลกและความต้องการที่ลดลงจากตลาดสำคัญ เช่น จีนและอาเซียน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อแนวโน้มการค้าโดยรวม

3.      ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงซบเซา โครงการก่อสร้างใหม่มีจำกัด การลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องลดลง โดยเฉพาะในตลาดคอนโดมิเนียมที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทต่อหน่วย ซึ่งความต้องการยังคงอยู่ในระดับต่ำ

ความท้าทายบนเส้นทางข้างหน้า: PRND

ปีงู 2025 อาจสะท้อนถึงความไม่แน่นอนและความไม่สามารถคาดเดาได้ ทำให้การคาดการณ์เป็นเรื่องยาก นักลงทุนควรเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายของทรัมป์ เพื่อให้สามารถก้าวผ่านปีงูไปได้อย่างราบรื่น ในที่นี้ ขอใช้สัญลักษณ์ของเกียร์อัตโนมัติ (PRND) ที่แสดงถึงแรงกระแทกที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายของทรัมป์ ดังนี้

·         การหยุดชะงักของโลกาภิวัตน์ (Pause Globalization) ทรัมป์อาจพิจารณาการเรียกเก็บภาษีที่สูงขึ้นอย่างมากเพื่อลดการขาดดุลการค้าในประเทศกับคู่ค้าการค้าหลักของสหรัฐฯ ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก ยุโรป และจีน ภาษีและอุปสรรคทางการค้าที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้อาจทำให้การค้าและการลงทุนทั่วโลกหยุดชะงักได้ และอาจทำให้โลกาภิวัตน์สะดุดลง การดำเนินมาตรการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและลดการเติบโตทางเศรษฐกิจในเศรษฐกิจหลักๆ ซึ่งอาจเพิ่มความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั่วโลก

·         การย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ (Reverse Reshoring) ทรัมป์ต้องการนำงานในภาคการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ เดิมทรัมป์ต้องการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศพันธมิตร หรือ "friend-shoring" แต่ระยะถัดไปทรัมป์น่าจะมุ่งเป้าหมายไปที่การนำงานมูลค่าสูงกลับเข้าสู่สหรัฐฯ โดยตรง เพื่อกระตุ้นการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ และลดการพึ่งพาจีน แม้การย้ายโรงงานมายังสหรัฐฯ อาจเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนแรงงานที่สูงจนกระทบความสามารถในการแข่งขัน เราเชื่อว่าทรัมป์จะเสนอลดภาษีนิติบุคคลเพื่อจูงใจธุรกิจ และกำหนดอัตราภาษีสูงเพื่อลงโทษบริษัทที่ไม่ปฏิบัติตาม

·         การใช้จ่ายที่นิ่ง (Neutral Spending) แม้ทรัมป์วางแผนลดภาษี แต่ไม่มีแผนลดการใช้จ่ายต่าง ๆ รวมถึงยังอาจมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากนโยบายควบคุมการอพยพครั้งใหญ่ ซึ่งอาจกดดันเสถียรภาพทางการคลังของสหรัฐฯ มาตรการทางการคลังเหล่านี้ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นอาจสร้างความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญต่อการจัดหาเงินทุนของภาคธุรกิจ นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ ยังมีอิทธิพลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศในภูมิภาคนี้ ซึ่งหมายความว่าพันธบัตรรัฐบาลไทยและบริษัทในประเทศอาจเผชิญกับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นในอนาคตอันใกล้

·         การขับเคลื่อนการลดค่าเงินดอลลาร์ (Driving Dollar Devaluation) แม้เราคาดว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯจะแข็งค่า แต่ทรัมป์อาจพลิกมุมมองนี้ด้วยการดำเนินนโยบายลดค่าเงินดอลลาร์ ที่ผ่านมา เขาได้ตรวจสอบแนวทางการค้าของคู่ค้าสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง โดยกล่าวหาว่าบางประเทศมีการแทรกแซงค่าเงินและขู่จะเก็บภาษีตอบโต้ ทรัมป์อาจมองว่าเงินดอลลาร์มีมูลค่าสูงเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้าจำนวนมาก มุมมองนี้อาจนำไปสู่การดำเนินกลยุทธ์คล้ายกับ Plaza Accord ในปี 1985 โดยกดดันประเทศผู้ส่งออกสำคัญให้ปรับค่าเงินให้แข็งค่าเทียบกับเงินดอลลาร์

เศรษฐกิจไทยปี 2024

สำนักวิจัยฯ ได้ปรับประมาณการ GDP ไทยปี 2024 เพิ่มขึ้นจาก 2.3% เป็น 2.6% จากเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่ขยายตัวดีเกินคาดที่ 3.0% YoY รวมถึงผลจากนโยบายการแจกเงินช่วงปลายไตรมาส 3 ที่ขยายผลต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 โดยคาดว่า GDP ไตรมาสสุดท้ายจะอยู่ที่ 3.7% YoY หรือ 0.5% QoQ หลังปรับฤดูกาล (QoQ,SA) ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายการแจกเงินของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ


ปัจจัยขับเคลื่อนหลักเป็นภาคบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร การขนส่ง และอาหารและเครื่องดื่ม นอกจากนี้ กิจกรรมก่อสร้างภาครัฐเริ่มเพิ่มขึ้นในครึ่งหลังของปี 2024 ขณะที่การส่งออกยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะในอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์การเกษตร

อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ยังอ่อนแอ ส่งผลลบต่อการเติบโตของค่าจ้างและโอกาสการจ้างงาน แม้เราได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจขึ้น แต่เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มซบเซาจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 กำลังซื้ออ่อนแอในกลุ่มครัวเรือนรายได้ต่ำ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์ลดลงมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้ามาแข่งขันด้านราคาของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ต่ำ และการถูกปฏิเสธสินเชื่อในอัตราสูง โดยเฉพาะกลุ่มประวัติการเงินหรือเครดิตไม่ดี ด้านกำลังซื้อกลุ่มครัวเรือนเกษตรกรรายได้ต่ำยังอ่อนแอ ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากอุทกภัยฉับพลันและสภาพอากาศเลวร้ายกลางปี 2024 ผลผลิตการเกษตรลดลง ท่ามกลางระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงอยู่ก่อนหน้า

ด้านการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ตามคาด เพื่อประเมินผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยเดือนตุลาคม ค่าเงินบาทคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงปลายปี 2024 คาดว่าเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยจาก 4.75% เหลือ 4.50% ช่วยลดส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯให้แคบลง

แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน

ธปท. คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% หลังปรับลดลง 25 bps เดือนตุลาคม เพื่อประเมินผลกระทบจากการปรับลดดอกเบี้ยและติดตามการส่งผ่านของนโยบายการเงินต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม คาดว่าธปท.จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพิ่มเติมจาก 2.25% เป็น 1.50% ภายในสิ้นปี 2025 โดยมีปัจจัยสำคัญ 5 ประการที่เป็นแรงผลักดัน ได้แก่ การส่งออกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อที่ลดลง รายได้ภาคเกษตรที่ลดลง และความจำเป็นในการรักษาความสามารถในการแข่งขันด้วยการปล่อยค่าเงินอ่อนค่า ซึ่งปัจจัยสุดท้ายถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสะท้อนถึงความเสี่ยงที่สงครามการค้าอาจลุกลามเป็นสงครามค่าเงิน

สำหรับอัตราเงินเฟ้อปี 2025 มีแนวโน้มที่จะไม่ถึงกรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ 1-3% ส่วนใหญ่เป็นผลจากราคาน้ำมันลดลง โดยคาดว่าทรัมป์จะกดดันราคาน้ำมันโลกให้ลดลงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ผ่านการเพิ่มการผลิตน้ำมันและก๊าซจากชั้นหินดินดาน (shale oil) ภายในประเทศ หรือการคลี่คลายความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในรัสเซียและตะวันออกกลาง คาดว่า ธปท. จะยุติการปรับลดดอกเบี้ยภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2025 สอดคล้องกับการพักการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด โดยการตัดสินใจของเฟด อาจได้รับอิทธิพลจากความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่เกิดจากการลดภาษีและการเพิ่มการใช้จ่ายของทรัมป์

เงินบาทคาดว่าจะอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ จากการไหลออกของเงินทุนไทยไปตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายการปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคลของทรัมป์ รวมถึงการโยกสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ไปสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ตามการเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ แม้ว่าการอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการส่งออก แต่ก็อาจเพิ่มต้นทุนการนำเข้า  ก่อให้เกิดความท้าทายต่อธุรกิจที่พึ่งพาวัสดุที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยคาดว่าเงินบาทจะอยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐปลายปี 2024 ก่อนที่จะอ่อนค่าลงต่อไปที่ 35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปี 2025


บทความที่เกี่ยวข้อง
กรุงเทพประกันชีวิต จัดงาน Bangkok Life Agency Kick Off 2025  ปลุกพลังตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงินครั้งใหญ่ รับศักราชใหม่ปี 2568
บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) โดย นายโชน โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายจักรพงศ์ แสงแก้ว ผู้บริหารสายงานตัวแทนและที่ปรึกษาการเงิน พร้อมด้วยกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูง
14 ม.ค. 2025
มีบ้านรับปีใหม่! ธอส. เผยผลการประมูลบ้านมือสองออนไลน์ ประจำเดือนมกราคม 2568 สามารถจำหน่ายได้ 106 รายการ มูลค่ารวมกว่า 133 ล้านบาท
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จัด งานประมูลบ้านมือสองออนไลน์ : GHBS NPA Online Auction 2025 ประจำเดือนมกราคม 2568 เมื่อวันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2568 ระหว่างเวลา 12.00 - 12.30 น. พร้อมกันทั่วประเทศ
14 ม.ค. 2025
ทีทีบี สำรองเงินสดในช่วงเทศกาลตรุษจีนผ่านสาขาและเอทีเอ็มทั่วประเทศ
ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี เตรียมสำรองเงินสดในช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2568 เพื่อรองรับการใช้จ่ายของลูกค้าและประชาชน ในระหว่างวันที่ 26 31 มกราคม 2568 จำนวน 13,000 ล้านบาท
14 ม.ค. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy