แชร์

สนค. เปิดบริการใหม่ “คิดค้า Briefing: ปักหมุดสินค้าไทยรุกตลาดจีน” เปิดข้อมูลเจาะลึกตลาดจีนรายมณฑล ดันสินค้าไทยขยายตลาดต่อเนื่อง

อัพเดทล่าสุด: 4 มี.ค. 2025
257 ผู้เข้าชม

              นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการขยายผลความสำเร็จของการบริการข้อมูล คิดค้า Briefing ที่นำเสนอข้อมูลเศรษฐกิจการค้าเชิงลึกในรูปแบบของการเล่าเรื่อง (Data Storytelling) ที่เข้าใจง่ายและใช้งานสะดวก โดยล่าสุดได้เปิดตัวบริการใหม่ หัวข้อ ปักหมุดสินค้าไทยรุกตลาดจีน ที่นำเสนอข้อมูลการค้าเชิงลึกในระดับมณฑลของจีน เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยตัดสินใจเชิงนโยบาย ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ และเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถเข้าใช้งานได้แล้วบนเว็บไซต์ คิดค้า.com



               บริการข้อมูล ปักหมุดสินค้าไทยรุกตลาดจีน เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยและจีน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยมาเป็นเวลากว่าทศวรรษ มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงสุดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา และในปี 2567 จีนมีสัดส่วนการค้า คิดเป็นประมาณร้อยละ 19 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย ซึ่งบริการดังกล่าวมุ่งเน้นการเพิ่มโอกาสทางการค้าและขยายตลาดสู่พื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ ของจีน ที่มีความแตกต่างกันทั้งขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนวิถีชีวิตและพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคของผู้คน โดยนำเสนอข้อมูลในระดับ มณฑล เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลสำคัญ  และใช้ประโยชน์ในการวางแผนการค้าในตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่

            เอกสารสรุปข้อมูลสำคัญ (Factsheet) ของแต่ละมณฑลที่สามารถดาวน์โหลดได้ทันที
เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นได้อย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย พื้นที่ ขนาดเศรษฐกิจ จำนวนประชากร รายได้ต่อหัว และการค้าระหว่างไทยและแต่ละมณฑล

            การชี้เป้า/ เตือนภัย สถานการณ์นำเข้าสินค้าจากไทยในมณฑลต่าง ๆ ของจีน โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่ม ตามแนวโน้มการนำเข้าสินค้าและส่วนแบ่งตลาดของไทยในแต่ละมณฑล เพื่อสนับสนุนการวางแผนทางการค้าอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมไปถึงข้อมูลเชิงลึกด้านผลไม้ส่งออกสำคัญของไทย ซึ่งนำเสนอ การเปรียบเทียบสถานการณ์ทางการค้าของผลไม้ไทยชนิดต่าง ๆ กับประเทศคู่แข่งอีกด้วย  

               โดยมีตัวอย่างข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

               1) การค้าระหว่างไทยและจีนในปี 2567 มีมูลค่า 134,236 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มณฑลที่มีมูลค่าการค้ากับไทยสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กวางตุ้ง มูลค่า 31,488.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมา คือ เจียงซู มูลค่า 18,871.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเจ้อเจียง มูลค่า 17,333.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

                   นอกจากนั้น ยังพบมณฑลดาวรุ่งที่มีความต้องการนำเข้าสินค้าไทยสูงสุด 3 อันดับแรก คือ มณฑลเซี่ยงไฮ้ มูลค่าการนำเข้าจากไทย 6,347.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 7.99% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของ
ปีก่อน (AoA) ตามด้วยเสฉวน มูลค่าการนำเข้า 714.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 47.65%AoA และหูเป่ย มูลค่าการนำเข้า 683.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 79.86%AoA

               2) กลุ่มสินค้าไทยที่จีนนำเข้ามูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรก คือ กลุ่มผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง โดยมณฑลดาวรุ่งที่น่าสนใจ คือ มณฑลหูเป่ย มูลค่า 175.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 367.15%AoA และ
ไห่หนาน 57.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 45.57%AoA  สำหรับกลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มณฑลที่น่าสนใจ คือ เจียงซู มูลค่า 830.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10.94%AoA และเซี่ยงไฮ้ 459.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 45.97%AoA และกลุ่มแผงวงจรไฟฟ้า ตลาดที่น่าสนใจ คือ มณฑลฝูเจี้ยน มูลค่า 69.46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 12.55%AoA

                   สำหรับสินค้าดาวรุ่งของไทยที่จีนนำเข้าเพิ่มขึ้น คือ สินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ มูลค่า 1,976.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9.70%AoA  โดยมณฑลที่น่าสนใจ คือ มณฑลเจียงซู 364.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 20.19%AoA  ถัดมา คือ สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรอื่น ๆ 1,315.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 30.08% ตลาดที่น่าสนใจ คือ เจ้อเจียง 334.85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 98.48% และไม้แปรรูป 1,246.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 25.75%AoA  มณฑลที่น่าจับตามอง คือ มณฑลกวางตุ้ง 940.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 31.51%AoA

               3) ในส่วนของสถานการณ์ผลไม้ไทยในตลาดจีน พบว่า ไทยยังครองตำแหน่งแหล่งนำเข้าผลไม้อันดับหนึ่งของจีน ด้วยส่วนแบ่งตลาด 52.71% โดยผลไม้ไทยที่จีนนำเข้ามูลค่าสูงสุด ได้แก่ ทุเรียนสด มังคุดสดหรือแห้ง และลำไยสด นอกจากนี้ ยังมีผลไม้ไทยชนิดอื่นที่ได้รับความสนใจจากจีนเช่นกัน เช่น เกรปฟรุ๊ตและส้มโอ
ที่มีการนำเข้าขยายตัว 16.12%AoA รวมถึงมีหลายมณฑลที่นำเข้าผลไม้ไทยเพิ่มขึ้น เช่น มณฑลเสฉวน มูลค่า 269.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 79.0%AoA เซี่ยงไฮ้ 267.43 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 11.89%AoA และเหอเป่ย 228.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 57.75%AoA

                นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของจีนส่งผลให้ความเป็นเมือง
ในมณฑลต่าง ๆ ของจีนขยายตัวขึ้น ยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนจีนในมณฑลต่าง ๆ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายตลาด
ลงสู่ระดับมณฑลของจีน โดยเฉพาะมณฑลชั้นในที่มีความต้องการสินค้าไทยมากขึ้น ทั้งนี้ การให้บริการข้อมูลสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยและจีนรายมณฑล คิดค้า Briefing หัวข้อ ปักหมุดสินค้าไทย รุกตลาดจีน จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนข้อมูลแก่ผู้ประกอบการ ช่วยให้วางแผนการส่งออกได้อย่างรอบคอบและแม่นยำ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และช่วยขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น


บทความที่เกี่ยวข้อง
เดินทางอย่างไร้กังวล! FWD ประกันชีวิต แจกประกันอุบัติเหตุฟรี 30,000 สิทธิ์ ในช่วงวันหยุดเดือนพฤษภาคม!
ในช่วงวันหยุดเดือนพฤษภาคม 2568 ซึ่งได้แก่วันแรงงานแห่งชาติ (1 พฤษภาคม) วันฉัตรมงคล (4-6 พฤษภาคม) และวันวิสาขบูชา (10-12 พฤษภาคม)
30 เม.ย. 2025
ไอแบงก์ ลงนาม MOU สินเชื่อสวัสดิการแก่ข้าราชการและลูกจ้างประจำ  สำนักงานศาลยุติธรรม กว่า 16,000 คน ทั่วประเทศ  เพื่อส่งต่อบริการทางการเงินที่เป็นธรรมอย่างยั่งยืน
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โดย ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการธนาคาร และนายธีรทัย เจริญวงศ์ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
30 เม.ย. 2025
ธ.ก.ส. จัดเต็ม! เสิร์ฟโปรโมชันพิเศษและสินค้าแกลมเกษตร ในงาน MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย
ธ.ก.ส. นำเสนอโปรโมชันพิเศษในงาน “MOF Journey 150 ปี เส้นทางการคลังไทย” ในโอกาสครบรอบ 150 ปีกระทรวงการคลัง
30 เม.ย. 2025
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy