อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค. อยู่ที่ 1.54% จากผลของฐานที่ต่ำของราคาพลังงาน และการเร่งตัวขึ้นของราคาอาหารสด

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค. ขยายตัว 1.54%YoY เป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 1.19%[1]  จากราคาสินค้าหมวดพลังงานที่พลิกกลับมาขยายตัว 7.15%YoY ตามค่ากระแสไฟฟ้าและราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน เนื่องจากฐานราคาที่ต่ำในปีก่อน ประกอบกับราคาหมวดอาหารสดกลับมาขยายตัว 1.51%YoY จากราคาผัก ผลไม้ และไข่ไก่ ที่ขยายตัวเร่งขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศร้อนทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง

สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.39%YoY ทรงตัวจากเดือนก่อนที่ระดับ 0.37%YoY โดยราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ของใช้ส่วนตัว (เช่น แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน) ค่าโดยสารสาธารณะ และค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา เป็นต้น ส่วนราคาสินค้าที่หดตัว ได้แก่ เสื้อผ้า และอุปกรณ์ซักล้างทำความสะอาด เป็นต้น ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 5 เดือนแรกของปีอยู่ที่ -0.13%YoY ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.42%YoY

Implication:

          KrungthaiCOMPASS ประเมินอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มขยับขึ้น ตามทิศทางราคาอาหารสดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และราคาพลังงานที่จะขยับตามการขยายเพดานราคาน้ำมันดีเซล โดยราคาหมวดอาหารสดในเดือน พ.ค. กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน จากราคาผักและผลไม้ที่สูงขึ้นซึ่งคาดว่าราคามีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน เนื่องจากปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนส่งผลให้อุปทานโดยรวมในตลาดลดลง สำหรับราคาพลังงานภายในประเทศที่พลิกกลับมาเป็นบวกในเดือน พ.ค. ส่วนหนึ่งจากฐานราคาค่ากระแสไฟฟ้าเดือน พ.ค. 2566 ที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลได้ทยอยปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตามการสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร และทางการได้ขยายเพดานตรึงราคาน้ำมันดีเซลเป็น ระดับ 33 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.-31 ก.ค. 2567 ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 33 บาทต่อลิตร ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. 2567 คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะยืนที่ระดับ 33 บาทต่อลิตรในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากประเมินว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องเก็บเงินชดเชยเข้ากองทุนฯ ที่ติดลบสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท

          KrungthaiCOMPASS คาดอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 0.8% เพิ่มขึ้นตามต้นทุนราคาสินค้าเป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่าจะถูกขับเคลื่อนจากเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดและหมวดพลังงานเป็นหลัก ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความผันผวนสูง สะท้อนถึงต้นทุนราคาสินค้าภายในประเทศที่อยู่ในระดับสูงขึ้น (cost-pushinflation) อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อหมวดพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) ยังมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยอัตรา
เงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีเฉลี่ยอยู่ที่ 0.42
% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2560 - 2562) ที่ 0.6% บ่งชี้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังอ่อนแอ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีนี้

 



[1] อ้างอิงจาก Reuter Polls (as ofJun 2024)

Visitors: 7,659,317