พาณิชย์เผย “ภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าปี 2566 ดัชนีราคาส่วนใหญ่ขยายตัวไม่มากนัก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น”

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าเฉลี่ยปี 2566 โดย ดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ดัชนีราคาส่งออก และดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ขยายตัวไม่มากนักและชะลอตัวจากปี 2565 อย่างชัดเจน ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคานำเข้าลดลงจากปี 2565 การชะลอตัวและลดลงของดัชนีราคาในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดลงของราคาพลังงานตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาครัฐ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้น และอยู่ในระดับที่มีความเชื่อมั่นตลอดทั้งปี ทั้งนี้ ในปี 2567 คาดว่าดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างจะชะลอตัวลงจากปี 2566 ส่วนดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนในไตรมาสแรกของปี 2567 คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานของภาครัฐที่มีต่อเนื่องจากปี 2566 ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิต ดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้า คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อย ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นและอยู่ในช่วงความเชื่อมั่น จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยและภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1)       ดัชนีราคาผู้บริโภค เฉลี่ยทั้งปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 1.23 (AoA) ชะลอตัวค่อนข้างมากจากปี 2565 ที่สูงขึ้นร้อยละ 6.08 ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงินระหว่างร้อยละ 1.0 – 3.0 เนื่องจากราคาสินค้าบางกลุ่มปรับลดลงอย่างชัดเจน อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง ที่ลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ รวมถึงเนื้อสุกร และเครื่องประกอบอาหาร อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังคงปรับสูงขึ้นตามการบริโภคที่ขยายตัวต่อเนื่อง ปี 2566 จึงยังไม่มีสัญญาณที่สะท้อนว่าภาวะเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 คาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2566 และอยู่ในระดับต่ำ ระหว่างร้อยละ (-0.3) – 1.7 ค่ากลางร้อยละ 0.7 เนื่องจากภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง

2)  ดัชนีราคาผู้ผลิต เฉลี่ยทั้งปี2566  เทียบกับปี 2565 ลดลงร้อยละ 2.4 (AoA) ตามราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้ากลุ่มปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องลดลงค่อนข้างมาก ประกอบกับปัจจัยกดดันด้านอุปสงค์ จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวไม่เป็นไปตามที่คาด การแข็งค่าของเงินบาทและภาคการส่งออกที่ลดลง ส่งผลให้ทั้งผลผลิตและราคาสินค้าในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉลี่ยปรับลดลงกว่าปี 2565 อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารยังคงปรับตัวสูงขึ้นจากความกังวลด้านความมั่นคงทางอาหารที่เกิดขึ้นทั่วโลกจากสภาพอากาศแปรปรวน สำหรับแนวโน้มปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อย จากภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มอุปสงค์โดยรวมของประเทศ และฐานราคาปี 2566 ที่อยู่ระดับต่ำ

3)       ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เฉลี่ยทั้งปี 2566 เทียบกับปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ0.1  (AoA) ชะลอตัวค่อนข้างมากจากปี 2565 ที่สูงขึ้นร้อยละ 5.7 โดยได้รับแรงกดดันจากราคาสินค้าหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณเหล็กส่วนเกินที่เกิดจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ของจีน กดดันให้ราคาเหล็กปรับลดลงทั้งตลาดโลกและไทย ประกอบกับช่วงไตรมาสที่ 4 ภาคอสังหาริมทรัพย์ของไทยได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น และการลงทุนในโครงการภาครัฐปีงบประมาณ 2567 ที่ล่าช้า ทำให้ความต้องการวัสดุก่อสร้างในภาพรวมลดลง สำหรับแนวโน้มปี 2567 คาดว่าจะทรงตัวและอยู่ระดับใกล้เคียงกับปี 2566 โดยมีปัจจัยกดดันจากปัญหาหนี้สินครัวเรือน อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับสูง รวมทั้งการลงทุนภาครัฐที่ล่าช้าจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งที่อาจลดลงจากมาตรการของภาครัฐ

4)  ดัชนีราคาส่งออก เฉลี่ยทั้งปี 2566 เทียบกับปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 1.1 (AoA) ชะลอตัวจากปี 2565 ที่สูงขึ้นร้อยละ 4.2 เนื่องจากความต้องการสินค้าในภาพรวมชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนโลกชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรกรรมปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากปริมาณผลผลิตได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง สำหรับแนวโน้มปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามต้นทุนด้านพลังงานและค่าขนส่งที่ยังอยู่ในระดับสูง จากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายพื้นที่ และวัฏจักรการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะกลับมาขยายตัวตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น

5)       ดัชนีราคานำเข้า เฉลี่ยทั้งปี 2566 เทียบกับปี 2565 ลดลงร้อยละ 0.9 (AoA) จากปี 2565 ที่สูงขึ้นร้อยละ 11.1 ตามการลดลงของราคานำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ สำหรับแนวโน้มปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามราคาวัตถุดิบนำเข้า และราคาพลังงานที่อาจปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นในตลาดโลกประกอบกับฐานราคาปี 2566 ที่อยู่ระดับต่ำ

6)       อัตราการค้า (Term of Trade) ของไทย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดรายได้จากการส่งออกเทียบกับรายจ่ายจากการนำเข้า ทยอยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปี 2565 โดยในเดือนธันวาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 99.4 อย่างไรก็ตาม อัตราการค้าตลอดปี 2566 อยู่ระดับต่ำกว่า 100 สะท้อนว่า ประเทศไทยมีความเสียเปรียบทางโครงสร้างราคาระหว่างประเทศ  เนื่องจากรายจ่ายจากการนำเข้าสูงกว่ารายได้จากการส่งออก และคาดว่าปี 2567 จะอยู่ระดับต่ำกว่า 100 ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

7)  ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนเฉลี่ยทั้งปี 2566 เทียบกับปี 2565 สูงขึ้นร้อยละ 1.9 (AoA) จากความต้องการขนส่งสินค้าทางถนนที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และการสูงขึ้นของค่าแรงอย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากตลาดโลกซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการให้บริการขนส่งทางถนนและมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ส่งผลให้ดัชนีฯ ชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 และ 3 และหดตัวในไตรมาสที่ 4 ตามลำดับ สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 คาดว่าจะลดลง เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานของภาครัฐที่คาดว่าจะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

8)  ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเฉลี่ยทั้งปี 2566 อยู่ที่ระดับ 54.2 อยู่ในช่วงเชื่อมั่น (สูงกว่าระดับ 50) และปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 46.2 ปี 2565 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมากที่สุดตลอดปี 2566 คือ ด้านเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางฟื้นตัว และมาตรการทางเศรษฐกิจของภาครัฐที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สำหรับแนวโน้มปี 2567 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปี 2566 และอยู่ในช่วงความเชื่อมั่น ตามภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องโดยได้รับแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกที่จะปรับตัวดีขึ้น

นายพูนพงษ์ กล่าวสรุปว่า แม้ดัชนีเศรษฐกิจการค้าส่วนใหญ่ในปี 2567 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่สูงมากนักแต่ยังคงมีปัจจัยที่อาจทำให้ดัชนีเศรษฐกิจการค้าไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ อาทิ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ภัยธรรมชาติ และมาตรการภาครัฐ ซึ่ง สนค. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ดัชนีเศรษฐกิจการค้ามีความถูกต้อง แม่นยำ สอดคล้องกับสถานการณ์ และสามารถนำไปใช้ประกอบการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ในปี 2566 และจะดำเนินการต่อเนื่องในปี 2567 คือ การร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างเข้มข้นในการกำกับดูแลราคาสินค้าให้มีความเหมาะสมมีปริมาณเพียงพอ ดำเนินมาตรการลดราคาสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ ผลักดันภาคการส่งออกเร่งเจรจาการค้า รวมถึงเร่งขยายโอกาสและเพิ่มประสิทธิภาพให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ตามนโยบาย “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” เพื่อให้เศรษฐกิจการค้าของไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีความเข้มแข็ง สามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน 

Visitors: 7,236,784