การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐและจีนกระเตื้องขึ้นในระยะนี้ ส่วนยูโรโซนกำลังออกจากภาวะถดถอยแต่อาจอยู่ในภาวะ Stagnation

ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐแข็งแกร่งกว่าคาด ลดความคาดหวังเฟดลดดอกเบี้ยแรง การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 303,000 ตำแหน่ง ในเดือนมีนาคม สูงกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 212,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.8% ต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดที่ 3.9% ขณะที่การเปิดรับสมัครงานในเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 8.75 ล้านตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 8.74 ล้านตำแหน่ง นอกจากนี้ ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตขยายตัวครั้งแรกในรอบ 17 เดือนอยู่ที่ 50.3 ในเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม PMI ภาคบริการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อยู่ที่ 51.4

ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐยังคงอยู่ในเชิงบวกและห่างไกลจากความเสี่ยงภาวะถดถอย สะท้อนจาก (i) ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เช่นเดียวกับอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำที่ 3.8% (ii) ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตเดือนมีนาคมกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 17 เดือน และ (iii) ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับขึ้นมากสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อชะลอในอัตราที่ช้าลง นอกจากนี้ การปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงความเห็นของกรรมการเฟดหลายท่านที่ชี้ให้เห็นว่ามีความจำเป็นน้อยลงในการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม วิจัยกรุงศรีประเมินว่าจากกิจกรรมภาคบริการที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ณ ปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูงมากเกินไป (มากกว่า 2%) จะเป็นสาเหตุที่ทำให้เฟดเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมช่วงกลางปีนี้

ECB ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิถุนายน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคมชะลอลงสู่ระดับ 2.4% YoY จากเดือนก่อนที่ 2.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงสู่ระดับ 2.9% จากเดือนก่อนที่ 3.1% ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ 51.5 ส่งผลให้ดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและบริการกลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ ยอดค้าปลีก -0.7% YoY หดตัวน้อยกว่าคาดการณ์ของตลาดและตัวเลขในเดือนก่อนหน้าที่ -1.3% และ -0.9% ตามลำดับ

เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของยูโรโซนส่งสัญญาณฟื้นตัวเชิงเทคนิค นำโดย (i) ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ZEW) ปรับขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 25 เดือน (ii) ดัชนี PMI ภาคบริการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และ (iii) ยอดค้าปลีกที่หดตัวในอัตราที่น้อยลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวโน้มระยะสั้นดูดีขึ้นแต่ภาพรวมเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอและอาจซบเซา (stagnation) ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 รวมถึงความต้องการสินเชื่อของภาคครัวเรือนและธุรกิจที่ชะลอตัว ด้วยเหตุนี้ จากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำมากรวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ปรับลงเร็วและเข้าใกล้กรอบเป้าหมายที่ 2% วิจัยกรุงศรียังคงมุมมองว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในการประชุมเดือนมิถุนายน

ภาคอุตสาหกรรมของจีนส่งสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ส่วนภาคบริการขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงหดตัว ทางการรายงาน PMI ภาคการผลิตในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นจาก 49.1 เป็น 50.8 โดยเป็นการขยายตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกันยายน ขณะที่ดัชนีย่อยด้านคำสั่งซื้อใหม่เพิ่มขึ้นมากจาก 49 เป็น 53 เช่นเดียวกับดัชนีย่อยด้านคำสั่งซื้อใหม่เพื่อการส่งออกซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 46.3 เป็น 51.3 หากพิจารณาตามขนาดธุรกิจพบว่า PMI ของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางพลิกกลับมาขยายตัวเป็น 50.3 และ 50.6 จากหดตัวที่ระดับ 46.4 และ 49.1 ตามลำดับ ขณะที่ PMI ของธุรกิจขนาดใหญ่ขยายตัวดีขึ้นเล็กน้อยจาก 50.4 เป็น 51.1 ส่วน PMI นอกภาคการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 51.4 เป็น 53 ขณะเดียวกันภาคเอกชนหรือ Caixin รายงาน PMI ภาคการผลิตและนอกภาคการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 50.9 เป็น 51.1 และจาก 52.5 เป็น 52.7 สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ ยอดขายบ้านใหม่ของผู้พัฒนาอสังหาฯ 100 อันดับแรกในเดือนมีนาคมหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ที่ -45.8% YoY โดยหดตัวชะลอลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ -60%

ตัวเลข PMI ภาคการผลิตที่ปรับตัวขึ้นมาอยู่ในโซนการขยายตัวสะท้อนถึงการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรมที่ชัดเจนขึ้น โดยบางส่วนเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล รวมถึงการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาคบริการยังคงเป็นแรงหนุนหลักต่อเศรษฐกิจในไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะภาคอสังหาฯ และหนี้สินของรัฐบาลท้องถิ่น จะยังคงเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปในไตรมาสที่สอง สวนทางกับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

เศรษฐกิจไทย

อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ คาดกนง.จะปรับลดดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.0% ในปีนี้ ขณะที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีแนวโน้มกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี แต่อาจสร้างความเสี่ยงต่อภาระทางการคลัง

เศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคมติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานชะลอลงเร็ว คาดกนง.จะผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคมอยู่ที่ -0.47% YoY ซึ่งติดลบน้อยลงเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ซึ่งอยู่ที่ -1.11% และ -0.77% ตามลำดับ สาเหตุของเงินเฟ้อติดลบเนื่องจาก (i) มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงาน ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้า ยังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 และ (ii) การลดลงของราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสัตว์และผักสด จากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้นมาก ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (หักราคาหมวดอาหารสดและพลังงาน) อยู่ที่ 0.37% ชะลอลงจาก 0.43% ในเดือนมกราคม สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ -0.79% และ 0.44% ตามลำดับ

วิจัยกรุงศรีประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาส 2 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นและกลับเข้าสู่แดนบวกได้ เนื่องจาก (i) สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น (ii) การอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลในประเทศอาจลดลง และ (iii) เงินบาทที่อ่อนค่าลงอาจกระทบราคาสินค้านำเข้าและต้นทุนสินค้าภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม  ยังมีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอลงสะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนล่าสุดที่ปรับลดลง 0.1% mom

สำหรับมุมมองด้านดอกเบี้ยนโยบาย วิจัยกรุงศรีประเมินกนง.จะพิจารณาผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีนี้ เนื่องจาก (i) เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตต่ำและกระจุกตัวในภาคท่องเที่ยวและสาขาที่เกี่ยวข้อง (ii) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้อยู่ที่ 0.44% ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด (ปี 2558-2562) ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 0.72% และในช่วงดังกล่าวอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฉลี่ยอยู่ที่ 1.55% เทียบกับ 2.50% ในปัจจุบัน (iii) กลางเดือนพฤษภาคมจะมีการรายงานข้อมูล GDP ไตรมาส 1/2567 ของไทยที่อาจอ่อนแอและเติบโตต่ำมาก และ (iv) แนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของสหรัฐที่อาจชัดเจนขึ้นช่วงกลางปี ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท จากปัจจัยต่างๆ ข้างต้นคาดว่าจะหนุนให้กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.0% ในปีนี้

รัฐบาลขยายกรอบการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 เพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รวมกับงบอื่นๆ ที่จะแจงในวันที่ 10 เมษายน การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เมษายน มีมติเห็นชอบการปรับปรุงกรอบการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) โดยในส่วนของงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ครม.เห็นชอบให้ปรับเพิ่มการขาดดุลงบประมาณอีก 1.527 แสนล้านบาท เป็น 8.657 แสนล้านบาท จากเดิมที่ 7.13 แสนล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อนำมาใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

การขยายกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 (เดือนตุลาคม 2567-กันยายน 2568) จากเดิม 3.6 ล้านล้านบาท เป็น 3.75 ล้านล้านบาท ส่งผลให้การขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก 3.56% ของ GDP เป็นขาดดุลสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 4.42% ของ GDP และขาดดุลต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 ด้านหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นแตะระดับ 66.93% ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณขาดดุลที่เพิ่มขึ้น 1.5 แสนล้านบาท เพื่อจะนำมาใช้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต สำหรับงบจากแหล่งอื่นๆ อีก 3.5 แสนล้านบาท รัฐบาลจะมีการชี้แจงแหล่งที่มาของเงินทุนสำหรับโครงการนี้ในวันที่ 10 เมษายนนี้ ล่าสุดสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ ทั้งเอสแอนด์พีและฟิทช์มีความเห็นสอดคล้องกันว่า แม้แผนการคลังระยะปานกลางของไทยจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ก็จะทำให้รัฐบาลมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อความพยายามของรัฐบาลในการทำให้สถานะการคลังกลับเข้าสู่ภาวะสมดุล (Fiscal consolidation) ในระยะข้างหน้า

Visitors: 7,246,607