“ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคเดือนมิถุนายน 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้า ยังมีทิศทางที่ดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และกทม. และปริมณฑล ที่ความเชื่อมั่นย

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมิถุนายน 2566 จากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค พบว่า "ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคเดือนมิถุนายน 2566 สะท้อนความเชื่อมั่นเศรษฐกิจใน 6 เดือนข้างหน้า ยังมีทิศทางที่ดีขึ้นในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และกทม. และปริมณฑล ที่ความเชื่อมั่นยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ"

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกอยู่ที่ระดับ 81.5 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการเนื่องจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคการลงทุนในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคบริการบางรายมีแนวโน้มจะลงทุนขยายกิจการเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)[1] พบว่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 88.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคบริการและอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในภาคตะวันออกมีความกังวลต่อสภาพอากาศที่คาดว่าจะไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้อยู่ที่ระดับ 79.6 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์จากยางพาราและอาหารทะเลแปรรูป อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในภาคใต้บางรายมีความกังวลต่อสภาพอากาศที่มีความแปรปรวน ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 79.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากคาดว่าความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมในพื้นที่เพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคเหนืออยู่ที่ระดับ 75.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมในพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป และในภาคบริการ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มเพิ่มขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตกอยู่ที่ระดับ 75.2 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น และในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากคาดว่าความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมในพื้นที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลผลิตในภาคเกษตรลดลงเล็กน้อย จากสภาพอากาศที่แปรปรวน ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลางอยู่ที่ระดับ 71.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการ เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมในอนาคตที่ดีขึ้น เนื่องจากความต้องการสินคาอุตสาหกรรมในพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป  อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในภาคกลางมีความกังวลต่อปริมาณน้ำที่คาดว่าจะไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในอนาคต ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ระดับ 61.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมจากอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้น และในภาคเกษตร เนื่องจากสภาพอากาศยังเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการบางรายมีความกังวลต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

[1] เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประกอบด้วยจังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง และจังหวัดฉะเชิงเทรา

Visitors: 7,236,760