สรุปผลประกอบการปีพ.ศ.2566 ของผู้ประกอบการ 10 รายที่ประกาศออกมาแล้ว

พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ ให้ความเห็นว่า ในช่วงปี พ.ศ.2566 เป็นช่วงเวลาที่ท้าทายในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท แม้ว่าปัจจัยเรื่องโรคระบาดที่มีผลต่อการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศจะไม่มีแล้วก็ตาม แต่ด้วยผลกระทบจากช่วงที่เกิดโรคระบาดปีพ.ศ.2563 – 2565 มีผลต่อเนื่องถึงการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิต ส่งผลให้การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของคนไทยไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมเป็นเรื่องที่ต้องคิดให้ละเอียดรอบคอบ ประกอบกับความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินต่างๆ ก็เป็นความท้าทายของตลาดธุรกิจการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย 

ผลประกอบการของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 10 อันดับแรกที่ทำกำไรและรายได้มากที่สุดในช่วงปี 2566

ลำดับ

บริษัท

กำไรสุทธิ

(ล้านบาท) 

% เปลี่ยนแปลง

รายได้

(ล้านบาท) 

% เปลี่ยนแปลง

1

แสนสิริ

6,060

42%

39,082

12%

2

เอพี

6,054

3%

38,399

-1%

3

ศุภาลัย

5,989

-15%

31,818

-10%

4

คิวเฮ้าส์

2,503

4%

9,237

-2%

5

พฤกษา

2,205

-20%

26,132

-9%

6

เอสซี แอสเสท

2,482

-3%

24,682

14%

7

เฟรเซอร์สฯ

1,852

-25%

16,809

3%

8

แอสเสทไวส์

1,213

8%

7,174

20%

9

สิงห์ เอสเตท

211

-54%

15,066

18%

10

แอล.พี.เอ็น.

353

-42%

7,443

-28%

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567)

หมายเหตุ: ผู้ประกอบการบางรายอาจจะมีการอัพเดทอีกครั้งภายหลัง

ผู้ประกอบการหลายรายมีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจทั้งการลดการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียม และเพิ่มสัดส่วนในโครงการบ้านจัดสรร รวมไปถึงการเพิ่มโครงการราคาแพงออกมาขายมากขึ้น ซึ่งมีผู้ประกอบการบางรายที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้ซื้อระดับบน นอกจากนี้การเร่งปิดการขายและโอนกรรมสิทธิ์บ้านและคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วหรือกำลังจะเสร็จเพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้เงินสดเข้ามาหมุนเวียนในบริษัทมากขึ้น ซึ่งดูแล้วปัจจัย ความท้าท้ายต่างๆ เหล่านี้ กลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ มีแนวทางการบริหารจัดการที่ดี เมื่อผลประกอบการออกมามีผู้ประกอบการบางรายที่มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีพ.ศ.2565 แม้ว่า ณ ปัจจุบันอาจจะยังมีการประกาศออกมาไม่ครบทุกบริษัท แต่ก็สามารถพิจารณาได้ว่าผู้ประกอบการรายใดมีผลประกอบการที่ดีขึ้นทั้งในแง่ของรายได้ และกำไร 

แสนสิริเป็นผู้ประกอบการที่มีกำไรในปีพ.ศ.2566 มากที่สุด โดยมีกำไรที่ 6,060 ล้านบาทเพิ่มขึ้นประมาณ 42% เมื่อเทียบกับปีพ.ศ.2565 รายได้ของแสนสิริอยู่ที่ 39,082 ล้านบาทเพิ่มขั้นประมาณ 12% จากปีที่แล้ว เอพี (ไทยแลนด์) มีรายได้และกำไรเป็นอันดับที่ 2 คือ มีรายได้ 38,399 ล้านบาท ลดลงจากปีพ.ศ.2565 ประมาณ 1% กำไรที่ 6,054 ล้านบาทเพิ่มขึ้นประมาณ 3% ซึ่งทั้งแสนสิริ และเอพีในปีที่ผ่านมา นอกจากจะเปิดขายโครงการใหม่มากแล้ว ยังมีการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งบ้าน และคอนโดมิเนียมต่อเนื่อง รวมไปถึงการเร่งปิดการขายโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ นอกจากนี้โครงการราคาแพงของทั้ง 2 บริษัทยังได้รับการตอบรับที่ดีโดยเฉพาะแสนสิริที่หลายโครงการของพวกเขาปิดการขายได้ภายในระยะเวลาไม่นาน แม้ว่าราคาขายเริ่มต้นจะไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทก็ตาม

 

ศุภาลัยมีกำไรและรายได้มาเป็นอันดับที่ 3 ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับปีพ.ศ.2565 โดยรายได้ปีพ.ศ.2566 อยู่ที่ 31,818 ล้านบาทลดลงประมาณ 10% และกำไรอยู่ที่ 5,989 ล้านบาทลดลงประมาณ 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หลายบริษัทมีรายได้มากขึ้นและเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก แต่ไม่ได้มากมายนักเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการบางรายที่มีทั้งรายได้และกำไรอันดับต้นๆ แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นได้ชัดเจน คือ กำไรที่ลดลงซึ่งอาจจะเกิดจาการที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการหรือกิจกรรมทางการขายที่มากขึ้น รวมไปถึงการลดราคาหรือยอมขาดทุนกำไรบ้างเพื่อที่จะได้ปิดการขายได้ จึงอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้กำไรของผู้ประกอบการบางรายลดลง แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้และกำไรอยู่ไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่ขาดทุนในช่วงที่ผ่านมา ผู้ปีระกอบการบางรายอย่าง คิวเฮ้าส์อาจจะมีกำไรมาก แต่รายได้น้อยมาก เพราะมีรายได้จากธุรกิจอื่นๆ เช่น อาคารสำนักงานให้เช่า โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเม้นต์ แม้ว่าพวกเขาจะเปิดขายโครงการใหม่ไม่มากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการ 5 อันดับแรก ซึ่งผลประกอบการด้านบนนี้ ยังไม่ได้รวมแลนด์แอนด์เฮ้าส์ที่หลายปีที่ผ่านมาเปิดขายโครงการใหม่ไม่มากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ แต่รายได้จากธุรกิจอื่นๆ ของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ค่อนข้างมาก ดังนั้น เป็นไปได้ที่รายได้ และกำไรในปีพ.ศ.2566 อาจจะมากกว่าผู้ประกอบการหลายรายในตลาด

 

รายได้และกำไรที่ลดลงของผู้ประกอบการบางรายในปีพ.ศ.2566 ยังคงมีช่องทางในการพลิกกลับมาในปีพ.ศ.2567 เพราะผู้ประกอบการบางรายมีการประกาศแผนการเปิดขายโครงการใหม่ออกมาแล้ว โดยผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายมีการเปิดขายโครงการมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีพ.ศ.2566 และปัจจัยลบบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับกำลังซื้ออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในปีพ.ศ.2566 อีกทั้งมาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองของที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาทยังคงมีต่อในปีพ.ศ.2567 ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีของผู้ประกอบการบางรายที่มีโครงการระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ในปีพ.ศ.2567 อีกทั้งกำลังซื้อต่างชาติในตลาดคอนโดมิเนียมเพิ่มมากขึ้นแน่นอน ทั้งคนจีน รัสเซีย และพม่าที่เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เพียงแต่ปัญหาใหญ่ยังคงอยู่ที่เรื่องของการพิจารณาสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีความเข้มงวดมาก และกระทบกับกลุ่มกำลังซื้อที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทขึ้นมาถึงกึงระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อยูนิต ผู้ประกอบการหลายรายจึงพยายามเปิดขายโครงการใหม่ที่เลี่ยงกลุ่มระดับราคานี้ในปีพ.ศ.2567 และพยายามเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อบ้านราคาแพงซึ่งไม่ค่อยมีปัญหาในการขอสินเชื่อธนาคาร ซึ่งผู้ประกอบการบางราย เช่น แสนสิริ และเอสซี แอสเสท รวมไปถึงแลนด์แอนด์เฮ้าส์ทำได้ดีมาโดยตลอด  

บทความโดย
พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ (Property DNA)

คุณสุรเชษฐ์ กองชีพพร็อพเพอร์ตี้

 

Visitors: 7,236,724