กรุงศรี โกลบอลมาร์เก็ตส์ ระบุค่าเงินบาททรงตัวที่ระดับ 36.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ คาด กนง. อาจจะลดดอกเบี้ยสองครั้งในปีนี้ สู่ระดับ 2.00%

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.50% ต่อปี

จากถ้อยแถลงระบุว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นจากปีก่อน อยู่ที่ 2.6% ในปีนี้ และ 3.0% ในปี 2568 เป็นผลมาจากการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยว และการใช้จ่ายภาครัฐที่จะเร่งตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี ขณะเดียวกันอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่คาดว่าจะขยับเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับเป้าหมายในช่วงสิ้นปี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ที่ 0.6% และ 1.3% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ที่ 0.6% และ 0.9% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม กนง. ยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง และเล็งเห็นถึงความสำคัญของกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้

หลังการ กนง. ประกาศคงอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางคงที่อยู่ระดับ 36.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยภาพรวมในปีนี้ค่าเงินบาทได้อ่อนตัวลง 6.2% ซึ่ง กนง. ระบุความผันผวนของค่าเงินบาทที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการอ่อนค่าของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่งเป็นผลจากการตอบสนองของตลาดต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด และปัจจัยภายในประเทศ

สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นวันที่ 12 มิถุนายน 2567 โดยจากท่าทีของ กนง. ในการประชุมรอบนี้ มีแนวโน้มที่จะตรึงดอกเบี้ยนานกว่าที่คาดไว้ คณะกรรมการส่วนใหญ่มีความเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันเอื้อต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน และมีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาโครงสร้าง แม้ว่ายังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะจากการฟื้นตัวของการส่งออก การเบิกจ่ายงบประมาณ และมาตรการกระตุ้นทางการคลัง อย่างไรก็ตาม กรุงศรี โกลบอล
มาร์เก็ตส์ ยังคงมองว่ามีความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายราวสองครั้งภายในปีนี้ โดยประเมินว่าอัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปีอาจอยู่ที่ 2.00% ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ที่กระทบแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

 

Visitors: 7,246,658