สนค. ศึกษาสถานการณ์ EV ชี้ ไทยยังมีโอกาสเป็นแนวหน้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ได้ติดตามและศึกษาสถานการณ์รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ทั้งสถานการณ์การค้าโลกและไทย เพื่อนำมาประเมินโอกาสและความท้าทายของประเทศจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก โดยมุ่งขยายโอกาสทางการค้าและเร่งขยับตัวเลขการส่งออกที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ต่อไป

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันทั่วโลกตื่นตัวกับการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เป็นผลสืบเนื่องจากความผันผวนของราคาพลังงานและการตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรง ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยสถานการณ์การค้ารถยนต์ไฟฟ้า ในปี 2566 พบว่าการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า Plug-in (BEV[1] และ PHEV[2]) ของทั้งโลก มีมูลค่ารวม 175.60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 29.40 โดยประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 25.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เยอรมนี 22.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเบลเยียม 18.12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า Plug-in ของทั้งโลก มีมูลค่ารวม 201.49 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 43.83 โดยประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรกของโลก ได้แก่ เยอรมนี 54.50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จีน 38.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเบลเยียม 19.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าได้เติบโตต่อเนื่องในทิศทางเดียวกับโลกเช่นกันโดยไทยนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า Plug-in จากตลาดโลก ในปี 2566 มูลค่ารวม 3,048.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 345.28 ซึ่งประเทศที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน 2,549.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เยอรมนี 172.16 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมาเลเซีย 119.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ (BEV, PHEV, HEV[3]) ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากจำนวน 71,450 คัน ในปี 2565 (ร้อยละ 20.52 ของยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งทั้งหมด) เป็น 168,425 คัน ในปี 2566 (ร้อยละ 41.39 ของยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งทั้งหมด) โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ที่มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (สัดส่วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 18.08) ทั้งนี้ การส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า Plug-in ของไทยไปตลาดโลก มีมูลค่ารวม 11.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 326.78 โดยไทยส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปยังสิงคโปร์มากที่สุด มูลค่า 3.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเติบโตสูงถึงร้อยละ 3,177.94 เมื่อเทียบจากปีก่อน รองลงมา ได้แก่ ลาว 2.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และญี่ปุ่น 1.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ผอ.สนค. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลายประเทศในโลกได้ออกมาตรการเพื่อสนับสนุนและผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งในมิติการดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ การส่งเสริมผู้ประกอบการ และการกระตุ้นผู้บริโภคให้เกิดความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ภาครัฐได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ภายใต้นโยบาย 30@30 อาทิ มาตรการเงินอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า มาตรการส่งเสริมการนำเข้าและการผลิตในประเทศ โดยได้กำหนดเงื่อนไขการลงทุนให้มีการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทยเพื่อชดเชยการนำเข้า รวมถึงส่งเสริมการขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

ผอ.สนค. ให้ความเห็นว่า จากการที่ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปภายในที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก และเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าสูง จึงอาจทำให้ไทยยังคงได้รับความสนใจจากนักลงทุน ประกอบกับมีพื้นที่ยุทธศาสตร์ซึ่งมีความพร้อมทั้งทางด้านคมนาคม แรงงาน และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและทำให้ไทยมีโอกาสขึ้นเป็นแนวหน้าในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สนค. มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมความแข็งแกร่งทางด้านการค้าของไทย เพื่อเป็นข้อมูลในการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไทย รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(1) เร่งส่งเสริมการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษามูลค่าการส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยอาจพิจารณาผลักดันการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปยังประเทศที่มีแนวโน้มความต้องการและโอกาสการเติบโตสูง อาทิ กลุ่มประเทศอาเซียน สหรัฐอเมริกา และจีน

(2) สร้างความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำในตลาดปัจจุบัน อาทิ จีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างพันธมิตรทางการค้าที่แข็งแกร่ง และเพื่อประโยชน์ในการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะสามารถนำมาต่อยอดองค์ความรู้และพัฒนาการผลิตของไทย

(3) ประสานความร่วมมือกับประเทศที่มีวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ หรือถ่ายโอนเทคโนโลยี และเพื่อทราบถึงมาตรฐานความต้องการแบตเตอรี่และชิ้นส่วนยานยนต์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ผลิตไทยสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานได้

(4) ปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย รวมทั้งกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก เพื่อให้ไทยสามารถหาประโยชน์จากข้อได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ในกิจกรรมการค้าที่จะมีมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นตลาดที่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโต

(5) ติดตามสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างใกล้ชิดโดยอาจประสานความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้ผลิตและส่งออก ทั้งรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์

(6) สนับสนุนการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการต่างประเทศ เพื่อจัดทำความร่วมมือกับประเทศที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ อินโดนีเซีย ที่ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือและความเชื่อมโยงในห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาค

(7) ศึกษาตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศที่มีศักยภาพเพิ่มเติม อาทิ อินเดีย เนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มเติบโตสูง

(8) ผลักดันผู้ประกอบการให้เร่งศึกษา ทำความเข้าใจ และใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ในกรอบต่าง ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงรายงานการศึกษาฯ ฉบับเต็มได้ตาม QR code ที่แนบมานี้

Visitors: 7,236,591